...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน”
วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ
คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา"
คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย"
ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 28 คน ได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย เนื่องจากงบประมาณของรัฐมีไม่เพียงพอ
การจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยได้ดำเนินการผ่านมาแล้วหลายปี โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัด หน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐบาลและประชาชนในการจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยในช่วง สัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย 2 - 8 เมษายน ของทุกปี บางจังหวัด บางหน่วยงานก็จัดกิจกรรมสนับสนุนตลอดทั้งปี ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2535 เป็นต้นมา คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงานใหม่โดยให้มีทิศทางในการจัดงานแน่นอน คือการกำหนดหัวเรื่องของการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งในปีพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทยได้กำหนดให้เป็นปีอนุรักษ์การดนตรีไทย ปีพุทธศักราช 2536 เป็นปีอนุรักษ์การช่างศิลป์ไทย
การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนา กิจกรรมเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดทัศนคติที่จะยังประโยชน์ต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทย ได้การรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถานศาสนสถาน ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม
กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อันเนื่องด้วยการอนุรักษ์มรดกไทยให้แพร่หลายกว้างขวาง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัวในการร่วมกันดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ การจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นกิจกรรมหลักที่กรมศิลปากรและหน่วยงานในสังกัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 250 ครั้ง)


Messenger