องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง”
จันทบุรีเป็นเมืองผลไม้ ที่มีผลไม้นานาชนิด ทุเรียน เป็นผลไม้ปลูกกันมากที่สุด สามารถแปรรูปได้หลายอย่างเพื่อเก็บไว้กินนานๆ ในเดือนเมษายนนี้มีทุเรียนออกสู่ท้องตลาดมากที่สุด ทั้งพันธุ์กระดุม ก้านยาว พวงมณี ชะนี หมอนทอง สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เป็นทุเรียนที่ปลูกส่งขายกันมากที่สุด
โดยชาวสวนจะนำผลผลิตที่ได้นำไปส่งขายตามล้งต่างๆที่รับซื้อให้ราคาดี ทั้งล้งจีน ล้งไทย เพื่อนำผลผลิตออกจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีน เป็นประเทศส่งออกมากที่สุด และพันธุ์หมอนทองที่ชาวจีนชื่นชอบมากต้องมาจากแหล่งปลูกจันทบุรี
ล้งหรือสถานที่รับซื้อผลไม้ จะรับซื้อทุเรียนโดยแบ่งเป็นขนาดและน้ำหนัก สำหรับทุเรียนหมอนทอง ขนาดที่รับซื้อแบ่งเป็น ขนาด AB ถือว่าลูกใหญ่ ขนาดกำลังดี ได้ราคาดีที่สุด 130-150 บาท ขนาด C เป็นขนาดรองลงมา ได้ราคาต่ำลงมา ราว 100-110 บาท และยังมีขนาด D ขนาดตกไซต์ โบ้เข้ ที่ขนาดไม่ได้ตามที่รับซื้อ ราคาจะตกลงมาไม่ถึงร้อยบาท แล้วแต่ล้งไหนจะให้ราคาอย่างไร
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและขายได้ราคาดี ให้ผลผลิตขนาดกลาง บริเวณที่มีน้ำขังไม่เหมาะต่อการปลูกทุเรียนพันธุ์นี้ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ มีการดูแลรักษาดี สามารถให้น้ำได้อย่างเพียงพอ จะให้ผลผลิตดีมาก ลักษณะเฉพาะของทุเรียนหมอนทอง จะเป็นทรงพุ่มโปร่งคล้ายรูปกรวยคว่ำ กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้นและจะยาวมาก จึงทำให้กิ่งอ่อนและลู่ลงด้านล่าง ลำต้นไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน บริเวณด้านหน้าผิวเป็นลักษณะลุ่มๆดอนๆ ไม่เสมอเรียบ ใบมีช่องระหว่างใบต่อใบห่างมาก ความยาวของใบจะยาวมากกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะส่วนปลายของใบจะยาวมากจนสังเกตเห็นได้ชัด
ดอกมีรูปร่างคล้ายผลละมุดฝรั่ง ส่วนของปลายดอกจะโค้งมน ก้านดอกสั้น มีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
ผล เมื่อโตเต็มที่มีขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม รูปร่างค่อนข้างยาว ปลายผลแหลม ร่างพูมองเห็นชัดเจน มักจะพบมีพูใหญ่เพียงอันเดียว เรียกว่า “พูเอก” ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป เรียกหนามชนิดนี้ว่า “เขี้ยวงู” ก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้ง ไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่
อ้างอิง : อภิชาติ ศรีสอาด. ทุเรียนยุคใหม่ และ ระยะชิด : นาคา อินเตอร์มีเดีย. ม.ป.ป..
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 562 ครั้ง)