...

เรื่อง "วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า 3
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า 3
วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า" หรือ "วันเจษฎา" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ สวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมายุ 63 พรรษา กับ 11 วัน เสด็จดำรงในสิริราชสมบัติ 25 ปี 7 เดือน 23 วัน
ในปี พ.ศ. 2356 เมื่อพระชนพรรษาได้ 26 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางใจพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา
พ.ศ. 2365 พระองค์ชายทับ ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กํากับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตํารวจว่าการฎีกา นอกจากนี้ยังได้ทรงรับพระกรุณาให้แต่งสําเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน จึงได้รับพระสามัญญานามว่า "เจ้าสัว"
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต โดยมิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาเสนาบดีผู้เป็นประทานในราชการจึงปรึกษากัน เห็นควรถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อันที่จริงแล้วราชสมบัติควรตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เพราะเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 โดยตรงส่วนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นเพียงพระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอมเท่านั้น แต่ทรงเจิญพระชนมายุมากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์และทรงผนวชอยู่ โดยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้วว่าเมื่อสิ้นรัชกาลพระองค์แล้วจะคืนราชสมบัติ ให้แก่สมเด็จพระอนุชา ( เจ้าฟ้ามงกุฎ) ดังนั้นพระองค์จึงไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินี คงมีแต่เจ้าจอมมารดา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ขึ้น 7 คํ่า เดือน 9 ปีวอกฉศก มีพระชนมายุได้ 37 พรรษา
ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยได้เกิดกรณีพิพาทกับญวน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวน จะมายึดจันทบุรีเป็นที่มั่นเพื่อทำการต่อสู้กับไทย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เป็นแม่กองออกมาสร้างป้อมค่าย และเมืองขึ้นใหม่ให้มีชัยภูมิดี เหมาะแก่การต่อสู้ข้าศึก ในปี พ.ศ. 2377 และเมืองใหม่นี้ก็คือ ค่ายเนินวง หรือปัจจุบันคือ โบราณสถานค่ายเนินวง ที่ตำบลบางกะจะนั่นเอง
พระองค์ทรงมีพระบรมราชคุณูปการแก่ประเทศและประชาชนด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งด้านการต่างประเทศ ด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุมลึกซึ้ง ได้ทรงผ่อนปรนมิให้กระทบกระเทือนทั้งผลประโยชน์ของประเทศและสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ส่งผลให้ชาติไทยคงความเป็นเอกราชตราบจนปัจจุบัน
ด้านเศรษฐกิจ บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ ด้านพระพุทธศาสนา ทรงเกื้อกูลการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง และทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนที่สำคัญที่สุดแก่ประเทศไทย คือส่วนที่พระราชทานไว้แก่แผ่นดิน ซึ่งเก็บรักษาไว้ในถุงแดงจำนวนหลายหมื่นชั่ง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำมาเป็นค่าชดใช้แลกเปลี่ยนอธิปไตยของชาติในกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ.112
ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจตลอดเวลา 27 ปี แห่งการครองราชย์ ทรงสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่แผ่นดิน อันเป็นรากฐานแห่งความเจริญมาจนตราบทุกวันนี้
ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลพร้อมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดาราม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 ทางราชการได้มีการถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาเจษฎาราชเจ้า" และได้ไช้ชื่อวันว่า "วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า"
อ้างอิง : บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. 2533.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 20931 ครั้ง)


Messenger