องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์”
วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา
ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านดนตรี และประติมากรรม และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ จึงถือเอาวันพระราชสมภพ (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310) เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ" เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขาทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม (ปัจจุบันบานประตูนี้ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์) ด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ
นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน
นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในเวลานั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันหน่วยงานนี้คือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) จัดตั้ง "โครงการศิลปินแห่งชาติ" ใน พ.ศ. 2527
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ที่นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า
ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ศิลปินแห่งชาติ มาเมื่อปี พ.ศ. 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่าง ๆ มาแล้วหลายคน
ศิลปินแห่งชาติ สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า เป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ศิลปินแห่งชาติ มาเมื่อปี พ.ศ.2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ.2528 จนถึงปัจจุบัน
ทางราชการยังจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 275 ครั้ง)