...

เรื่อง “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วันยุทธหัตถี) และวันกองทัพไทย 18 มกราคม”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วันยุทธหัตถี) และวันกองทัพไทย 18 มกราคม”
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วันยุทธหัตถี) และวันกองทัพไทย ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ พระองค์เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ จึงถือว่าวันนี้เป็นวัน “กองทัพไทย” อีกด้วย
สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ ก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ
ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี”
ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น "วันกองทัพไทย" เรียกกันอีกอย่างว่า "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" หรือ "วันยุทธหัตถี" เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ แต่เดิมมีการระบุว่า วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชานั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็น "วันยุทธหัตถี" และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน
การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองนั้น เนื่องจากเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันจะสามารถจำได้ง่ายมากกว่า และมีความเหมาะสมกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้ว พบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคม นั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคม ดังกล่าว ดังนั้น วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น "วันยุทธหัตถี" หรือ "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"
รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อประเทศชาติ เพื่อเทิดทูนพระเกียรติยศให้ปรากฎ จึงได้ประกาศให้ถือวันที่ 25 มกราคมของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันกองทัพไทย ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยครอบองค์สถูปมูลดินนั้นไว้ ที่สุพรรณบุรี เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเป็นงานรัฐพิธี ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็น "วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี แทนวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นการนับทางจันทรคติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ ให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคมของทุกปี
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 14160 ครั้ง)