เรื่อง “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม”
วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม วันนี้มีความสำคัญต่อภาคตะวันออก เพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง มาตามหัวเมืองภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ตั้งมั่นที่จันทบุรีเพื่อรวบรวมกำลังไปกอบกู้เอกราช หลังจากนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 28 ธันวาคม
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 เป็นวันปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” ซึ่งประชาชนเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” และได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้คืนมาแก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า "เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ "นายไหฮอง” มารดาเป็นหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราช ที่ 3) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย
ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช "สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น "พระยาตาก ปกครองเมืองตาก”
เมื่อปี พ.ศ. 2309 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางหัวเมืองภาคตะวันออก จนเข้ายึดเมืองจันทบุรี โดยใช้ช้างพังคีรีกุญชรพังประตูเมือง เข้ายึดเมืองจันท์ได้สำเร็จ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน
หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะ ฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบรมราชาธิราชที่ 4” ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2311 - พ.ศ. 2313 จึงได้อาณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม
สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถกอบกู้ประเทศ ชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้ ประชาราษฎร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า“มหาราช”
คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี
ส่วนที่จันทบุรี มีพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมืองจันทบุรี มีรูปลักษณะพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ ขนาดสองเท่าครึ่งพระองค์จริง รอบพระบรมรูปเป็นทหารคู่พระทัยทั้งสี่ คือพระเชียงเงิน หลวงพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ที่คอยอารักขาอยู่ 4 ด้าน
โดยทางกรมศิลปากรนำศิลาจารึกพระนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี มาประทับที่พระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ถูกชาวจันทบุรีร่วมกันคัดค้าน ขอให้เปลี่ยนเป็นจารึกพระราชสมัญญานามเสียใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 118184 ครั้ง)