...

เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”
วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเองตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก "สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก
สมัยก่อนถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน
ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่า เป็นความงดงามของประเพณี การสืบทอดจรรโลงประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะช่วยกันรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติต่อสิ่งแวดล้อม
เชื่อว่า คนไทยทุกคนรู้จัก "นางสงกรานต์" แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่า นางสงกรานต์ มีที่มาจากไหน
โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ
เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ ตรงกับวันอาทิตย์ จะชื่อ “ทุงษเทวี” ตรงกับจันทร์ ชื่อ “โคราดเทวี” ตรงกับวันอังคาร ชื่อ”รากษสเทวี” ” ตรงกับวันพุธ ชื่อ”มัณฑาเทวี” ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ “กิริณีเทวี” ตรงกับวันศุกร์ ชื่อ “กิมิทาเทวี” ตรงกับวันเสาร์ ชื่อ”มโหทรเทวี”
ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน
เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง
ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง
คติความเชื่อของไทยถือว่าในวันสงกรานต์ถ้าหากได้มีการปล่อยนกปล่อยปลาแล้ว จะเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ และเป็นการสะเดาะเคราะห์ร้าย ให้คงไว้แต่ความสุขความเจริญในวันขึ้นปีใหม่ การปล่อยนกปล่อยปลาที่ทำเป็นพิธีและติดต่อกันทุกๆปี จะเห็นได้ที่ปากลัดที่มีขบวนแห่ที่สวยงาม และเอกเกริกในตอนเย็น ตอนกลางคืนจะมีการละเล่นต่างๆ เช่น การเล่นสะบ้า คนหนุ่มสาวจะมีโอก่าสได้ใกล้ชิดกัน
วันที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์คือวันตรุษไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณคู่กับวันสงกรานต์ ที่เรียกว่า “ตรุษสงกรานต์” ตรุษ แปลว่า ยินดี หมายถึงยินดีที่มีชีวิตยั่งยืนจนถึงวันนี้ จึงจัดพิธีแสดงความยินดี โดยการทำบุญ ไม่ให้ประมาทในชีวิต ปกติจะจัด 3 วัน วันแรก คือแรม 14 ค่ำ เป็นวันจ่าย วันกลาง คือแรม 15 ค่ำ เป็นวันทำบุญ มีการละเล่นจนถึงวันที่ 3 คือขึ่น 1 ค่ำ เดือน 5 ปัจจุบันนิยมรวบยอดมาทำบุญและเล่นสนุกสนานในวันสงกรานต์ช่วงเดียว
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 164606 ครั้ง)


Messenger