ศิลป์ พีระศรี กับสงครามโลกครั้งที่ 2
ศิลป์ พีระศรี กับสงครามโลกครั้งที่ 2: On History.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กันยายน 2560
ศิลป์ พีระศรี กับสงครามโลกครั้งที่ 2
คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรทุกคนคงจะรู้กันดีว่า วันที่ 15 กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัดให้มีงานเฉลิมฉลองเป็นเทศกาลประจำอยู่ทุกปี และเรียกกันว่า “วัน อ.ศิลป์” แต่ใครจะรู้บ้างว่า อ.ศิลป์ ซึ่งเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และมีชื่อเดิมว่า “คอร์ราโด เฟโรซี” (Corrado Feroci) ทำไมจึงได้มีชื่อไทยว่า “ศิลป์ พีระศรี”? เรื่องนี้มีที่มาอย่างน่าสนใจทีเดียวเลยนะครับ
พ.ศ.2466 นายเฟโรซีในวัย 31 ขวบปี ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยาม ที่จัดขึ้นในยุโรป และนี่ก็เป็นจุดพลิกผันให้ศิลปินชาวตะวันตกคนหนึ่ง ได้เข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำแผนกศิลปากรสถาน แห่งราชบัณฑิตสภา ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งสยามประเทศ และถึงแม้ว่าสองปีต่อมา รัชกาลที่ 6 จะเสด็จสวรรคต แถมเมื่อผลัดแผ่นดินมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในราชบัณฑิตสภา ซึ่งนายเฟโรซีทำงานอยู่อย่างหนักหน่วง ตลอดจนเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่นายเฟโรซีก็ยังคงรับราชการอยู่ในสยามประเทศโดยปกติสุขดีมาตลอด
พ.ศ.2485 ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจากประเทศสยาม รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโดยเลือกเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ ภายหลังจากที่กองทัพของญี่ปุ่นได้ขอใช้ไทยเป็น “ทางผ่าน” ไปยังพม่า และอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนใต้อาณานิคมของอังกฤษ และเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายพันธมิตรในดินแดนแถบนี้ จนเกิดเป็นตำนานเกี่ยวกับเป็นที่เกิดการสร้างทางรถไฟสายมรณะ เพียงหนึ่งปีถัดมาคือ พ.ศ.2486 รัฐบาลของ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ในอิตาลี ประเทศบ้านเกิดของนายเฟโรซี ซึ่งก็เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก็ประกาศยอมแพ้สงคราม และก็เป็นตรงนี้แหละครับ ที่นายเฟโรซีมีโอกาสได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นภาษาไทย โดยไม่ต้องให้หมอดูที่ไหนมาสแกนกรรมให้
ผลจากการที่อิตาลียอมแพ้สงครามทำให้ชาวอิตาเลียนต้องตกเป็นเชลยศึกของเยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งในกรณีของประเทศไทย นายเฟโรซีในฐานะชาวอิตาเลียนก็ต้องตกเป็นเชลยญี่ปุ่น และต้องไปใช้แรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะนั่นเอง แต่รัฐบาลของจอมพลแปลกท่านขออนุญาตควบคุมนายเฟโรซีเอาไว้เอง โดยได้มอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการ โอนสัญชาตินายเฟโรซีจากอิตาเลียนมาเป็นไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศิลป์ พีระศรี” อย่างที่รู้จักกันในทุกวันนี้
(ข้อมูลเกี่ยวกับ อ.ศิลป์ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ก๊อบปี้ และจับวางต่อๆ กันไปโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลในอินเตอร์เน็ต มักจะบอกว่าตรงกับปี พ.ศ.2485 ซึ่งปีนั้นอิตาเลียนยังไม่ได้ประกาศยอมแพ้สงคราม ที่จริงจึงควรเป็นปี พ.ศ.2486 อย่างที่ผมบอกนี่แหละ)
ทำไมรัฐบาลของ จอมพล ป. จึงช่วยเหลือ อ.ศิลป์?
นอกเหนือจาก อ.ศิลป์ จะรับราชการในไทยมานานพอควร และเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมแล้ว เรายังควรสังเกตด้วยว่า อ.ศิลป์ พีระศรี นั้น เป็นผู้ควบคุมการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญสองแห่ง ที่ทำพิธีเปิดในยุคที่จอมพลแปลกท่านนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยแรกคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (เริ่มสร้าง พ.ศ.2482 เปิดเมื่อปี พ.ศ.2483) และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (วางศิลาฤกษ์ พ.ศ.2484 และเปิดปี พ.ศ.2485) เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นห่างคนไกลอะไรเลย (แน่นอนว่านี่ผมยังไม่ได้รับรวมชิ้นงานที่สร้างขึ้นก่อนหน้าจอมพลแปลกท่านนั่งเก้าอี้นายกฯ นะครับ) ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ อ.ศิลป์ ท่านสำเร็จการศึกษามาจาก Royal Academy of Italy ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี แถมไม่ได้จบมาแบบไก่กา เพราะเมื่อเรียนจบจนมีอายุได้ 23 ปี ในปี พ.ศ.2458 ท่านก็สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิจารณ์ศิลป์ และปรัชญา ที่อคาเดมีแห่งนี้เลยทีเดียว
ปัญหาก็คือในบรรดาเอกสารว่าด้วยประวัติของ อ.ศิลป์ ซึ่งแน่นอนว่าผมหมายถึง เอกสารเฉพาะทางฝั่งไทย มักจะอ้างว่าท่านสำเร็จการศึกษาจาก Royal Academy of Art of Florence หรือที่แปลกันออกมาว่า ราชวิทยาลัยศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ ไม่ใช่ Royal Academy of Italy อย่างที่ควรจะเป็น?และนี่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องความถูกต้องของชื่อราชวิทยาลัยเท่านั้น เพราะนอกจากราชวิทยาลัยที่ว่าจะไม่ได้มีอยู่จริงในโลกใบนี้แล้ว (แน่นอนว่า อ.ศิลป์ อาจจะบอกเล่า แล้วบรรดาลูกศิษย์ลูกหาจำสลับกับชื่อ Royal Academy of Art ที่มีชื่อเสียงในลอนดอน) ยังอาจจะเป็นไปได้ว่า ตัวของ อ.ศิลป์ เองนั่นแหละ ที่เลือกจะใช้ชื่อ Royal Academy of Italy จนทำให้ผู้คนสับสนกันในภายหลังต่างหากเพราะที่จริง อ.ศิลป์ ท่านสำเร็จการศึกษา และได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเหน้าจาก Academia di Belle Arti di Firenze ซึ่งก็เป็นอคาเดมีทางศิลปะที่โด่งดังและเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ไม่แพ้ Royal Academy of Art ในลอนดอนเลยไม่แต่น้อย แต่ผมไม่ได้หมายความว่า อ.ศิลป์ ท่านพูดปดนะครับ เพราะ Academia di Belle Arti di Firenze เคยเปลี่ยนชื่อเป็น Royal Academy of Italy จริงๆ แต่เปลี่ยนเฉพาะในช่วงระหว่าง พ.ศ.2469-2486 ซึ่งเป็นช่วงที่ “ท่านผู้นำ” Mussolini เป็นนายกฯ ของอิตาลี (แน่นอนว่า อคาเดมีแห่งนี้ก็กลายเป็นอคาเดมีสายสนับสนุนฟาสซิสม์ หรือลัทธิท่านผู้นำ และศิลปะในสกุลนั้นไปโดยปริยาย) จนมาเลิกใช้ชื่อนี้ในปีที่อิตาลีประกาศยอมแพ้สงคราม และท่านผู้นำต้องลงจากตำแหน่งปีเดียวกันกับที่นายเฟโรซีได้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ศิลป์ พีระศรี นั่นเอง
การที่ อ.ศิลป์ เลือกที่จะบอกใครๆ ว่าท่านสำเร็จการศึกษาจาก Royal Academy of Italy จึงดูจะเป็นเรื่องแปลกอยู่ไม่น้อย เพราะสมัยที่ท่านจบนั้น อคาเดมีแห่งนี้ยังใช้ชื่อว่า Academia di Belle Arti di Firenze และมันก็ต้องอีกตั้ง 11 ปีหลังจากที่ท่านเรียนจบเลยนะครับกว่าที่อคาเดมีที่ท่านจบจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ราชวิทยาลัยฟาสซิสม์” เป็นการชั่วคราว?แน่นอนว่า “ท่านผู้นำแปลก” ก็เป็นผู้นิยมในลัทธิท่านผู้นำหรือ “ฟาสซิสม์” ไม่ต่างไปจาก “ท่านผู้นำมุโสลินี” ของอิตาลีเอาเข้าจริงแล้ว ผมเลยคิดว่ามันก็อาจจะไม่ค่อยน่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก ถ้าตัวของ อ.ศิลป์ ท่านจะเลือกที่จะเรียกวิทยาลัยที่ท่านจบมาในชื่อใหม่ ที่เพิ่งตั้งขึ้นมา ลองดูชิ้นงานของ อ.ศิลป์ ในยุคที่จอมพล ป. เรืองอำนาจดูก็ได้ครับ ชื่อ “ศิลป์ พีระศรี” สัญชาติไทย และอิสรภาพที่ท่านได้รับ อาจจะเป็นรางวัลสำหรับผลงานของท่านในยุคนั้นก็เป็นได้
(จำนวนผู้เข้าชม 2012 ครั้ง)