“สมเด็จพระนเรศวร” เป็นพระนามที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยากลุ่มฉบับความพิสดารใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า กษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาผู้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาใน พ.ศ. ๒๑๓๓ แต่แท้ที่จริงพระนามนี้หาใช่พระนามทางการของพระองค์ไม่
หลักฐานร่วมสมัยอย่างศิลาจารึกวัดอันโลก (รามลักษณ์) หมายเลข K 27 เรียกพระนามร่วมสมัยของพระองค์เมื่อคราวยกทัพไปตีเมืองละแวกใน พ.ศ. ๒๑๓๑ ว่า “พระนเรสส”
พระไอยการกระบดศึกที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนเรศเอง อันเป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวรพระอนุชาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ออกพระนามพระองค์ว่า “สมเดจ์บรมบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดมบรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี” ตรงกับมหาราชวงศ์พงษาวดารพม่า (พงศาวดารฉบับหอแก้ว) ที่พระเจ้าอังวะจักกายแมง (พะคยีดอ) โปรดให้ราชบัณฑิตเรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๒ เรียกว่า “พระนเรศ”
พงศาวดารฯ ฉบับวันวลิต (The Short History of the Kings of Siam) ของเยเรมีส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vlient) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออก (The East India Company) ของฮอลันดา ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๒ เรียกพระองค์ว่า “พระนริศ” (Prae Naerith) และ “พระนริศราชาธิราช” ตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่า (โยธยา ยาสะเวง) จากการสอบปากคำเชลยศึกชาวศรีอยุทธยาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เรียกพระองค์ว่า “พระนริศ” และคัมภีร์สังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน (สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์พระพิมลธรรม) ซึ่งรจนาเป็นภาษาบาลีใน พ.ศ. ๒๓๓๒ เรียกพระองค์ว่า “พระนริสสราช” (นริสฺสราชา) อันมีความหมายเช่นเดียวกับพระนามว่า “สมเด็จพระนเรศ”
(จำนวนผู้เข้าชม 4393 ครั้ง)