ในบรรดาประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด ไม่มียุคไหนที่มีเงื่อนงำคลุมเครือและฉงนสนเท่ห์มากเท่ากับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเฉพาะในปลายรัชสมัยของพระองค์ โดยมีหลายประเด็นที่เป็นที่น่ากังขาเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เช่น
1. ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่
2. ทรงพระสติฟั่นเฟือนจริง ๆ หรือทรงแกล้งทำเพื่อหนีหนี้จากจีน 60,000 ตำลึง หรือไม่ได้ทรงพระสติฟั่นเฟือนเลย
3. ทรงถูกสำเร็จโทษ หรือมีตัวแทนหน้าเหมือนพระองค์มารับโทษแทนจริงหรือไม่
4. ทรงหนีไปผนวชที่นครศรีธรรมราชจริงหรือไม่
เนื่องจากในแต่ละประเด็นมีท่านผู้รู้หลายท่านได้เคยวิเคราะห์และวิจารณ์มาแล้ว1-8 โดยเฉพาะ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 2 แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนลงไปในทุกประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้ว มีแต่การตั้งสมมติฐานไปต่าง ๆ นานา แม้กระทั่งประเด็นแรก “ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่” ก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ออกมาในรูปแบบพงศาวดารกระซิบเสียมากกว่าความจริง แล้วประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งสิ้น หากแต่เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ในยุคนั้นไม่ค่อยได้มีการบันทึกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากนักเช่นในปัจจุบันนี้ อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่เขียนในต้นรัตนโกสินทร์นั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้าม ทำให้อาจมีอคติในการเขียนประวัติศาสตร์ได้
ดังนั้น การที่จะเขียนวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในกรณีนี้จึงต้องอาศัยเหตุการณ์แวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เราสงสัยไม่น่าจะเป็นความจริงได้ ในบทความนี้ผมก็จะใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาพอสมควร (ในบทความนี้ขอเรียกพระองค์ว่า–พระเจ้าตาก) ผมรู้สึกว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเสมือนตัวต่อหรือจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ในยุคนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ผมจึงขอวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้โดยอิสระแยกเป็นประเด็น ๆ ไปโดยไม่นำประเด็นอื่น ๆ มาผูกกันซึ่งจะทำให้ยุ่งยากต่อการสรุป และเมื่อเราได้จิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์แต่ละตำแหน่งแล้ว เราก็จะได้ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ในยุคธนบุรีนี้ในที่สุด โดยในบทความนี้ผมขอวิเคราะห์ประเด็นแรก “ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่” ส่วนในประเด็นอื่น ๆ นั้น ในโอกาสต่อไปหากผมมีเวลาและ/หรือมีหลักฐานใหม่ที่สามารถวิเคราะห์ได้แล้ว ก็จะนำมาวิเคราะห์ท่านผู้อ่านต่อไปครับ
การที่ผมหาญกล้าขึ้นมาวิเคราะห์ประเด็นนี้ขึ้นมาก่อน ก็เพราะว่าผมได้หลักฐานใหม่ 3 เล่ม โดยเฉพาะจากหนังสือที่เพิ่งออกใหม่เมื่อ พ.ศ. 2559 นี้ คือ
1. หมิงสือลู่–ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยามฯ9 ซึ่งเขียนโดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร โดยที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงกับและอีก 2 เล่ม
2. ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน ของ เตโชไชยการ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 255610 และ
3. มหาราช 2 แผ่นดิน ซึ่งแต่งโดย คุณ น.นกยูง ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2555 หมิงสือ ลู่ – ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม และหนังสือ ระยะทาง ราชทูตไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งแต่ ณ เดือน 8 ปีกุญตรีศกและปีชวด จัตวาศก ในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอินทรมนตรีแย้ม ได้เรียบเรียงไว้ในราชกาลที่ 6
โดยผมจะวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่ คุณปรามินทร์ เครือทอง1 ได้เคยวิเคราะห์ไว้โดยอาศัยหลักฐานมาจากหนังสือ 3 เล่ม คือ
1. ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์5
2. ความหลงในสงสาร ของ สุทัสสา อ่อนค้อม6
3. เรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ ของ หลวงพ่อฤๅษี ลิงดำ1, 7
โดยผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเขียนบทความนี้โดยที่ไม่ได้มีอคติใด ๆ ต่อผู้ใดทั้งสิ้น โดยพยายามวิเคราะห์ไปตามสิ่งที่มีการบันทึกไว้แล้วโดยหาเหตุผลสนับสนุนและคัดค้านที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันโดยพยายามนำความเห็นส่วนตัวใส่เข้าไปให้น้อยที่สุด
ผมขอย่อเรื่องแต่ละเรื่องสั้น ๆ โดยเริ่มจากเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน5 ก่อนเป็นเรื่องแรก
พระอนุชาของพระเจ้าตาก 2 พระองค์ ชื่อ เจียนซื่อ และเจียนจิ้น ทำมาค้าขายและได้ถวายผลกำไรแก่พระเจ้าตาก (แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน) และได้รวบรวมเงินจากผู้ช่วยเหลือคนอื่นได้แล้ว 5,000-10,000 ตำลึง
ต่อมากรมอาวุธได้กราบทูลว่า อาวุธส่วนมากชำรุดทรุดโทรม และเนื่องจากมีข่าวศึกใหญ่ซึ่งพระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพคุมพลมารบ ดังนั้น จึงต้องจัดดาบเหล็กดีอีกประมาณสามหมื่นเล่มเป็นดาบเหล็กดีและอาวุธของทหารจีนพวกง้าว หอก และทวนอีกห้าพันเล่มและพระองค์ได้ตรัสเรียกพระอนุชาและทหารจีนที่สนิทมาปรึกษาเป็นความลับเรื่องอาวุธนั้น พระยาราชาเศรษฐีจีนซึ่งเคยว่าราชการกรมท่ารับพระราชดำรัสแล้วออกไปปรึกษาหารือกันกับพรรคพวกเรื่องอาวุธนั้นเป็นการเร็ว และสรุปได้ว่า จีนคุงเซียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมท่าและรู้จักนายทหารของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นผู้ตรวจด่านเข้าออกและผู้มีหน้าที่ทูลเรื่องราวต่าง ๆ แก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งด้วย และอาสาว่าจะไปกู้เงินพวกพ่อค้าและข้าราชการของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แล้วนำเงินกู้นั้นซื้อดาบและเหล็กมาตีดาบกับอาวุธต่าง ๆ ให้พอใช้ในสงครามครั้งนี้
ส่วนเงินกู้นั้น ไทยจะเอาสินค้าออกไปขายแล้วเอาเงินใช้เขาหรือเอาของไปให้ตีราคาใช้หนี้ แต่คราวนี้เงินมากอย่างน้อยต้องเป็นแสนตำลึงจึงจะพอใช้ จะต้องได้จดหมายและลายมือชื่อของพระเจ้าอยู่หัวไปจึงจะได้ มิฉะนั้นพระเจ้ากรุงปักกิ่งหรือข้าราชการคงจะไม่เชื่อถือ และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า จะขอยืมเงินข้าราชการจีนหรือพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาซื้อปืน เหล็กตีดาบ และซื้อดาบที่ดีจากเมืองใกล้ ๆ มาใช้ พร้อมทั้งหอก ง้าว และทวน
ต่อมาจีนคุงเซียมได้ดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ โดยยืมเงินจากข้าราชการ พ่อค้า และพระเจ้ากรุงปักกิ่ง รวมกันได้หกหมื่นตำลึง จึงได้จัดซื้อของมาจนครบที่ต้องการ ต่อมามีจดหมาย 3 ฉบับจากเมืองจีนถึงจีนคุงเซียม โดยมีฉบับหนึ่งส่งมาจากพ่อค้าพูดเรื่องเงินและทวงดอกเบี้ย และในที่สุดความทราบถึงแผนการของฝ่ายจีนซึ่งมีการวางแผนเป็น 3 แผน
แผนที่ 1 ให้เร่งเงินให้ได้อย่างจริงจังเร่งร้อน
แผนที่ 2 ให้พูดจาอ่อนโยนประเล้าประโลมใจให้ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่งเป็นมเหสี โดยอ้างว่าเป็นญาติกันแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งจะได้ทรงช่วยเหลือเรื่องการเงินและเรื่องกองทัพจีนที่จะช่วยป้องกันบ้านเมือง
แผนที่ 3 บังคับให้พระเจ้าตากยอมรับว่าเป็นลูกจีนแม้เกิดในไทย แต่ทางพระเจ้ากรุงปักกิ่งถือว่าเป็นจีนตามพ่อและปู่ย่า ต้องเชื่อฟังพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ถ้าไม่เชื่อฟังจะยกทัพมาให้แตกใน 7 วัน
ฝ่ายพระเจ้าตากได้ทรงปรึกษากับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยได้ทรงวางแผนทำเป็นเสียพระสติหรือสวรรคตไป เรื่องหนี้สินพัวพันจะได้หมดปัญหาไป ซึ่งความจริงเรื่องเงินหกหมื่นตำลึงก็ไม่มากนัก หากจะมีเวลาให้หาใช้ก็คงได้ แต่เจ้าหนี้มีอุบายเกิดไม่ยอมผ่อนผันขึ้นมา และทางฝ่ายไทยก็ยังมีทัพพม่าอยู่และรับสั่งว่าพระองค์ต้องกู้ยืมเงินซื้อปืน ซื้อข้าวเลี้ยงทหาร และเบี้ยหวัดเงินปีทหารและพลเรือน ทรงปรึกษานัดแนะให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปเมืองเขมรกับพระโอรสของพระองค์ ถ้าตีได้เมืองเขมรก็ให้โอรสของพระองค์ครองอยู่เมืองเขมร ส่วนทางกรุงธนให้พระยาคนหนึ่งทำเป็นว่าจับพระเจ้าแผ่นดินให้บวชเสียแล้วรักษาแผ่นดินไว้ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เพื่อคนทั้งหลายจะได้ไม่นินทาว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นกบฏชิงราชสมบัติ
แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์5 ไม่ได้เขียนว่าบทความของท่านอ้างอิงจากเอกสารใด แต่ผมได้อ่านพบในหนังสือ พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย? ซึ่งเขียนโดย ว.วรรณพงษ์ และ ภมรพล ปริเชฏฐ์12 (2558) ได้เขียนบทความที่คล้ายคลึงของแม่สงฆนี (วรมัย) กบิลสิงห์มาก โดยอ้างหลักฐานจาก “บันทึกช่วยจำ สมุดบุดดำของพระยาบริรักษ์ภูเบศร์ (เอี่ยม ณ นคร)” ราชนัดดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย) ราชบุตรของพระเจ้าตาก ความว่า
“ท่านไหฮอง (พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นชาวจีน) เป็นพระญาติกับพระเจ้ากรุงจีน (ฮ่องเต้เฉินหลง) ทำให้พระเจ้ากรุงจีนช่วยเหลือสนับสนุนด้านปืนไฟดินดำ อาวุธหอกดาบและเรือรบจำนวนหนึ่ง จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าตากปราบก๊กต่าง ๆ ได้อย่างราบคาบ และได้สร้างเมืองใหม่ ณ กรุงธนบุรี ซึ่งนับได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นเป็นหนี้พระเจ้ากรุงจีนก้อนโตเลยทีเดียว…”12
แต่ก็มีข้อแตกต่างของหนังสือพระเจ้าตากสินยังไม่ตาย?12 คือ ในหนังสือนี้กล่าวว่า พระเจ้ากรุงจีนเป็นพระองค์ใหม่ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะรัชกาลของพระเจ้าเฉียน (เฉิน) หลงนั้นยาวมาก ประมาณ 60 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2279-23393 นั่นคือทรงสละราชสมบัติในสมัยรัชกาลที่ 1
ส่วนในเอกสารชิ้นที่ 2 คือ ความหลงในสงสาร6 กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการกู้เงิน 60,000 ตำลึง ดังนี้
“…ด้วง [รัชกาลที่ 1 – ผู้เขียน] เวลานี้ข้าเป็นหนี้ชาวจีนเขาอยู่ 60,000 ตำลึง ความจริงเงินจำนวนนี้ถ้าหากเขาจะให้เราผ่อนใช้เราก็จะพอหาได้ แต่ทางจีนเขาต้องการจะยึดประเทศไทยไปเป็นประเทศของเขา เขาต้องการจะกลืนเรา เขาจึงเร่งรัดจะเอาเงินจำนวนนี้ให้ได้ แล้วเจ้าก็รู้นี่ว่าข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยากจนเข็ญใจมากเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย เงินในท้องพระคลังก็ไม่มีสักแดงเดียว เวลานี้เบี้ยหวัดเงินปีของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนก็ยังติดค้างเขาอยู่มาก
ข้าได้กู้เงินจากประเทศจีนมาใช้จ่าย เวลานี้ข้ากันเงินไว้ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเงินสำหรับให้แก่ข้าราชการเป็นเบี้ยหวัดเงินปีที่คั่งค้างอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ข้าเก็บรักษาไว้เพื่อเจ้าจะได้มีใช้จ่ายเมื่อเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาก่อนไม่มีเงินทองมีความลำบากมาก ข้าเห็นใจจึงไม่อยากให้เจ้าเป็นอย่างข้า แต่เรื่องที่จะต้องให้เจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีอยู่ว่า เมื่อเจ้าหนี้เขามาทวงข้า เมื่อข้าพ้นจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียแล้ว เจ้าก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินนี้แทนข้า เพราะเป็นคนละคนกัน
ที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่เพราะข้าคิดจะโกงเขา แต่เขาจะเอาเราไปเป็นประเทศของเขา เขาคิดไม่ดีกับเราก่อน เราก็ต้องหาทางป้องกันรักษาประเทศของเราไว้ แต่การที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น จู่ ๆ จะยกให้เจ้าเป็นแล้วข้าสละราชสมบัติอย่างนั้นทำไม่ได้เพราะเขาจะรู้ทันแผนการของเรา เราจึงต้องใช้กุศโลบายที่แยบยล เวลานี้เมืองเขมรเกิดจลาจลข้าจะให้เจ้ากับเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชายของเจ้ายกกองทัพไปปราบเมืองเขมร แล้วเวลาที่เจ้าไปก็ให้เอาลูกชายของข้าไปด้วย
ถ้าตีเมืองเขมรได้เมื่อไรก็ให้ลูกชายของข้าครองเมืองที่นั่น แล้วข้าอยู่ทางนี้ก็จะทำเป็นวิกลจริต แล้วก็จะแนะให้ข้าราชการบางคนที่นี่จับข้าบวชเสีย ข้าก็จะทำเป็นบ้าไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ เมื่อเจ้ามาก็ให้ทำพิธีปราบดาภิเษกเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วเนรเทศข้าไปอยู่หัวเมืองเสีย เรื่องมันก็หมดเท่านี้ เรื่องหนี้สินต่าง ๆ ก็เป็นอันว่าหมดกันไป พระเถรเจ้า [พระเจ้าตาก – ผู้เขียน] เล่าเรื่องราวของธนบุรีที่ไม่มีในประวัติศาสตร์…”
ในเอกสารชิ้นที่ 3 เรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ ของ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้เขียนไว้ตามที่ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 7 ได้อ้างไว้ ผมไม่สามารถหาต้นฉบับได้ แต่ได้อ่านหนังสือญาณพระอริยะ : ไขปริศนาพระจ้าตาก ที่เขียนโดย ทิพยจักร7 ประกอบกับหนังสือพระเจ้าตากเบื้องต้น ของ คุณปรามินทร์ เครือทอง ได้บรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงอธิบายว่า “…ท่านกู้เงินเพื่อใช้ทำสงครามกับเจ้าสัวใหญ่ของจีน อีกไม่นานเจ้าสัวคนนี้จะกลับจากเมืองจีนมาทวงเงินจากบ้านเมืองของเรา ถ้าเราไม่ให้มีหวังได้รบกับเมืองจีนอีก ตอนนี้แผ่นดินจีนมีอำนาจมากกว่าเราเห็นจะชนะลำบาก บ้านเมืองก็ผ่านสงครามมามากบอบช้ำมามากแล้ว…
…พระเจ้าตากทรงวางแผนผลัดแผ่นดินไว้ว่า ให้พระยาจักรีไปปราบกบฏเมืองเขมรซึ่งกำลังแข็งข้อขึ้นพอดี การรบครั้งนี้ให้เอาลูกชายท่าน 2 คนไปด้วย ถ้ายึดเขมรได้เรียบร้อยให้เอาลูกชายท่านไปครองไว้ที่นั่นไม่ต้องเอาลงมาพระนครอีก
หลังจากที่พระยาจักรีไปปราบขบถเมืองเขมรพอดีท่านก็ทราบข่าวในพระนครว่าเกิดกบฏมีการจับตัวพระเจ้าตาก เนื่องจากพระเจ้าตากมีสติฟั่นเฟือน พระยาสรรค์เป็นคนจับตัว พอทราบข่าวเจ้าพระยาจักรีรีบลงมาปราบกบฏในเมืองทันที พอเข้ามาถึงพระนครมีการอัญเชิญให้พระยาจักรีขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าตาก…
เมื่อพระยาจักรีขึ้นทำหน้าที่แล้วก็รับสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าตากสินโดยเอานักโทษมาประหารแทน พอตกดึกก็ส่งไปที่ปากท่อ ระหว่างนั้นให้ค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อให้พระเจ้าตากสามารถเจริญภาวนาได้ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสถานที่สัปปายะและปลอดภัยจึงจัดส่งพระเจ้าตากไปอยู่ที่นั่น
…ในขณะที่เจ้าสัวผู้มาทวงเงิน เมื่อเดินทางไกลโพ้นมาจากเมืองจีนด้วยเรือสำเภาขณะเมื่อเข้าใกล้พัทยาถูกลมทะเลตีจนเรืออับปาง จากนั้นก็โดนโจรสลัดปล้นฆ่า เป็นอันว่าไม่ได้มาถึงเมืองหลวงตายไปซะก่อน…”7
ในเอกสารชิ้นที่ 4 ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน10 ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ค้นคว้าจากเอกสารหลายชิ้นคล้าย ๆ กับงานของ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 2
คุณเตโชไชยการไม่เชื่อว่าพระเจ้าตากทรงกู้เงินจากจีน โดยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
“…ข้อมูลนี้ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการที่เป็นนักรบ ผู้กล้าเยี่ยงพระองค์นี้ [สมเด็จพระเจ้าตากสิน – ผู้เขียน] มีหรือที่จะกระทำการไปลักษณะขลาดเขลา…ยอมลงจากบัลลังก์ด้วยเหตุผลแบบนี้ [ผลัดแผ่นดินแล้วหนี้ที่ค้างคากันนั้นก็ต้องแล้วต่อกันไม่ผูกพันกันกับแผ่นดินใหม่ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ ปรากฏมากมาย อาทิ เสียพระสติวิปลาส มีการนำพระองค์ไปสำเร็จโทษ เป็นต้น]
ผมว่าประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นในชั้นหลัง ๆ และเป็นการหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อให้ข้อมูลการลงจากบัลลังก์ของพระองค์ดูดี แต่ความเป็นจริง…ไม่ดีอย่างที่คิด เพราะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากกว่า เพราะเป็นถึงชนชั้นนำการปกครองระดับกษัตริย์ จะกล่าวว่าชักดาบไม่ยอมใช้หนี้ได้อย่างไร…”
คุณเตโชไชยการยังให้เหตุผลต่อไปว่า “…ตอนที่อยู่ในยุคระบบทุนนิยม หรือเริ่มมีระบบทุนเข้ามาจึงมองไปว่าการกู้จะต้องใช้เงินนับว่าเป็นข้อมูลที่ผิดและคลาดเคลื่อนอย่างมากและเป็นข้อมูลที่ไม่ควรเชื่ออีกต่อไป เพราะยิ่งเชื่อก็จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากขึ้นไปอีกกับการยืมเงินแล้วไม่ชดใช้ให้
การกู้เงินจากจีนของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงไม่น่าจะใช่เรื่องจริง…”
นอกจากนี้ คุณเตโชไชยการยังเขียนต่อไปอีกว่า “…ต้องไม่ลืมว่า เราจะเห็นแต่จีนนั้นคอยรับเครื่องบรรณาการมากกว่าที่จะอุปถัมภ์ในลักษณะอื่น โดยเฉพาะอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างกรุงศรีอยุธยา เพราะเราเองก็หาได้เป็นเมืองขึ้นของจีนไม่
การทำศึกสงครามในพื้นที่นั้น ๆ เรื่องของเงินจะไม่มีความหมาย สิ่งที่มีความหมายมากที่สุดคือเสบียงอาหาร กำลังพล อาวุธ ส่วนเรื่องเงินแม้ใครที่มีมากก็ไม่สามารถนำเอามาใช้ได้ เว้นเสียแต่ทองคำเพียงอย่างเดียวที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นกลางและสากลทั้งโลก
การทำศึกสงครามจะอาศัยเพียงแค่เสบียงอาหาร กำลังพล และอาวุธ เท่านั้นจริง ๆ หากบอกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องกู้เงินเพื่อเอามากู้ชาติฟังดูแปลก เรื่องนี้จึงเป็นเพียงแค่เรื่องของจินตนาการเท่านั้น บ้านเมืองมีศึกสงครามจะเอาเงินไปซื้ออะไรได้ ใครที่ไหนจะออกมาทำค้าขาย…
หากเราเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เงินจากจีน คำว่าจีนคำนี้หมายถึงอะไร
1 คนจีน (ที่อาศัยในเมืองไทย)
2 ประเทศจีนที่อยู่ไกลโพ้นทะเล
หากบอกว่า ยืมคนจีนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะเมื่ออยุธยาล่มสลาย คนจีนส่วนหนึ่งก็ลงเรือล่องกลับประเทศจีน โดยเฉพาะพ่อค้า จะไหวตัวทันก่อนผู้อื่นทั้งสิ้น และหากเชื่อว่ากู้ยืมเงินจากประเทศจีนแล้วไม่มีเงินชดใช้ เลยต้องผลัดแผ่นดิน ยิ่งเป็นเหตุผลที่แย่มาก ๆ ใครก็ตามที่เชื่อกันว่า เป็นเพราะเหตุนี้ ผมว่าหากเราลองไปศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนโดยแท้แล้วจะมองเห็นทันทีว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เงินจากจีนมานั้น เป็นเพียงแค่ลิเกการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้นจริง ๆ…
เพราะในยุคที่อยุธยาล่มสลายนั้นเป็นปลายรัชสมัยของจักรพรรดินามว่า เฉินหลง ซึ่งในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ฟองสบู่แตก หรือถังแตกนั่นเอง เกิดจากมีขุนนางใหญ่คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบและชอบแอบอ้างราชโองการเสมอ ๆ
ขุนนางคนนี้มีเงินสดและทองคำหลายร้อยไหทีเดียว กระทั่งสิ้นวาสนาของจักรพรรดิเฉินหลง จัดผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ลูกชายขึ้นมาครองราชย์แทน จึงได้กาหัวของขุนนางผู้นี้ไว้ เพราะทราบข้อมูลดีว่าเขาคอร์รัปชั่น ต่อมาสืบทราบในทางลับ จึงดำเนินการจับตัวและยึดทรัพย์มาเป็นจำนวนมาก
สุดท้ายก็ประหารชีวิตของขุนนางท่านนั้นด้วยวิธีที่พิสดาร
ประเทศจีนเกิดวิกฤตฟองสบู่ ไม่มีทางให้กู้เงินแน่นอน คนจีนในประเทศไทยที่เป็นพ่อค้าหนีกลับจีนหมด
ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเรื่องการกู้ยืมเงินจากจีนจึงเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าเท่านั้นเอง
หากเราจำกันได้ตามประวัติที่พระองค์ให้ทหารหาญกินข้าวแล้วทุบหม้อข้าวให้แตกเพื่อที่ว่าหากรบกับเมืองจันทร์แพ้ก็จะอดกันหมด ปรากฏว่ารบชนะ เมื่อเข้าเมืองจันทร์ได้นอกจากได้อาหาร อาวุธ กำลังพลแล้ว ยังได้ทรัพย์จากเมืองจันทร์อีกในคราวนั้น เพราะเมืองจันทร์เป็นเมืองอุดมสมบูรณ์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังวัสดุในการต่อเรือพร้อมทั้งเรื่องของอาวุธพร้อมสรรพก็ที่เมืองจันทร์นี่เอง การตีเมืองจันทร์ยังมองในเชิงการศึกได้อีกว่า หากรบแพ้ยังสามารถหนีออกไปยังเขมรได้ ไปประเทศอื่น ๆ ได้อีก
ดังนั้นตำนานเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยืมกู้เงินจีนจึงเป็นเรื่องแต่งขึ้น ผมเขียนย้ำเรื่องนี้เพื่อที่จะให้ได้เห็นและเข้าใจอย่างชัดเจนว่า เลิกเชื่อเรื่องนี้ได้แล้วเพราะเป็นประวัติศาสตร์ทางความเชื่อที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ”
หมู่บ้านที่ประสูติของบิดาพระเจ้าตากสิน ในอำเภอเท่งไฮ้ จังหวัดซัวเถา (ต้วน ลี่ เซิง, 2526)
เกี่ยวกับหนังสือของคุณเตโชไชยการนั้น ผมมีข้อสังเกตบางประการว่าจีนในยุคนั้นอาจจะไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจมากก็เป็นได้ เพราะคณะทูตได้รับพระราชทานของจากจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเป็นจักรพรรดิจีนในขณะนั้นมากกว่าของที่ถวายแก่จักรพรรดิตามธรรมเนียมจีน7 แต่เหตุผลอื่นของคุณเตโชไชยการนั้นผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
คราวนี้ผมขอประมวลทั้งหมดแล้วสรุปความเห็นของผมว่า “พระเจ้าตากไม่ได้ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากประเทศจีน” ที่ถูกอ้างว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้ในการผลัดแผ่นดิน โดยการสำเร็จโทษพระเจ้าตากจริง หรือมีตัวแทนก็ตามแต่ โดยเหตุผลของผม มีดังนี้
ก. การที่อ้างว่าหากผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์แล้วก็ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตากสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อหนี้ 60,000 ตำลึง
แต่จากหนังสือหมิงสือลู่–ชิงสือลู่9 บรรยายว่า “…การเมืองสยามสมัยต้นรัชกาลที่ 1 ในเอกสารชิงสือลู่ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1782/พ.ศ. 2325 เป็นเวลาเดียวกันกับที่เรือคณะราชทูตสยามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล่นกลับมาถึงพระนครพร้อมกับสิ่งของมีค่าเต็มลำเรือ เรือทูตคณะนี้เป็นผลแห่งความเพียรพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าสิบสี่ปีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ติดต่อไปยังจีน แต่ถูกจีนตอบปฏิเสธมาทุกครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1781/พ.ศ. 2324 จีนเพิ่งยอมรับสถานะกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยอมรับเครื่องราชบรรณาการจากสยาม
ปัญหาสำคัญที่จีนยกเป็นข้ออ้างในการไม่รับรองและไม่ติดต่อกับสยาม คือความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งจีนยึดมั่นในเรื่องการสืบสายเลือดวงศ์กษัตริย์เดิมอย่างเคร่งครัด ดังเห็นได้จากการตำหนิสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลายครั้งที่ไม่ยอมสืบหาหรือยกเจ้านายในราชวงศ์เดิมขึ้นเป็นกษัตริย์…
…ดังนั้น เมื่อพระเจ้าเฉียนหลงทรงยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาล ภายหลังจากทรงพยายามอยู่หลายปี รัชกาลที่ 1 จึงทรงตระหนักดีว่าคงเป็นการยากที่จีนจะยอมรับการเปลี่ยนวงศ์กษัตริย์ใหม่ของสยามอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่จีนเพิ่งยอมรับสถานะราชวงศ์ธนบุรีไปไม่นาน และราชวงศ์จักรีคงต้องใช้เวลาอีกนานนับสิบปี กว่าที่จีนจะยอมรับรองและแต่งตั้งเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเผชิญมา
พระราชสาส์นฉบับแรกของพระองค์ที่ส่งไปเมืองจีนใน ค.ศ. 1782/พ.ศ. 2325 จึงระบุไว้ชัดเจนว่าพระองค์เป็น ‘พระราชโอรส’ ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยทรงเล่าให้ทางจีนทราบว่า ‘เจิ้งเจา พระบิดาประชวรถึงแก่พิราลัย’ ส่วนพระองค์คือ ‘เจิ้งหัว’ [แต้ฮั้ว – ภาษาแต้จิ๋ว] ผู้ได้รับการมอบหมายจากพระราชบิดาให้ปกครองดูแลอาณาประชาราษฎร์…”
นั่นก็คือรัชกาลที่ 1 ไม่ได้ทรงอ้างว่าเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่ แต่เป็นการสืบราชสมบัติต่อเนื่องกันมา ทำให้สมมติฐานที่ว่า “พระเจ้าตากทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึงจากประเทศจีน” ไม่เป็นความจริงนั่นเอง
นอกจากนี้ในหนังสือมหาราช 2 แผ่นดิน11 และหนังสือหมิงสือลู่–ชิงสือลู่9 เขียนไว้ว่า รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 5 ก็ยังใช้แซ่แต้เดียวกันกับพระเจ้าตากอีกด้วย คือ
รัชกาลที่ 2 แต้ฮก (เจิ้งฝอ – ภาษาจีนกลาง)
รัชกาลที่ 3 แต้ฮุด (เจิ้งฝู – ภาษาจีนกลาง)
รัชกาลที่ 4 แต้เม้ง (เจิ้งหมิง – ภาษาจีนกลาง)
รัชกาลที่ 5 แต้เจี่ย
ซึ่งผมเห็นว่าเหตุผลข้อ ก. นี้สำคัญที่สุดในการคัดค้านการกู้เงินของพระเจ้าตาก
ข. สืบเนื่องจากเหตุผลข้อ ก. คือเมืองจีนยังไม่ยอมรับฐานะของสยามในยุคกรุงธนบุรีแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่เมืองจีน (ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้ากรุงจีน ขุนนาง หรือเจ้าสัวชาวจีน) จะยอมให้สยามกู้เงิน 60,000 ตำลึง เพราะการที่ยังไม่มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันนั้นทำให้ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่าเงิน 60,000 ตำลึงที่ให้กู้ไปนั้นจะได้กลับคืนมา
ค. ในสมัยพระเจ้าตาก (พ.ศ. 2310-25) ได้ส่งคณะราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน 2 ครั้ง9 ครั้งแรก พ.ศ. 2320 ทรงส่งคณะทูต 3 คนโดยแต่งพระราชสาส์นถึงราชสำนักชิงว่า มีความประสงค์จะสถาปนาความสัมพันธ์กับราชวงศ์ชิง และได้คำตอบว่า “อนุญาตให้ดำเนินการได้”7
และครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2324 พระเจ้าตากทรงจัดแต่งคณะทูตคณะใหญ่โดยมีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูต ไปเมืองจีน โดยมีเรือ 11 ลำ บรรทุกงาช้าง นอแรด ฝาง โดยเป็นเรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการ 4 ลำ เรือสินค้า 7 ลำ นอกจากนั้นยังมีฝางและงาช้างเป็นสิ่งของนอกบรรณาการ7
คณะทูตได้รับพระราชทานของจากจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเป็นจักรพรรดิจีนในขณะนั้นมากกว่าของที่ถวายแก่จักรพรรดิตามธรรมเนียมจีน นอกจากนี้คณะทูตได้ซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่เมื่อถึงสยามก็ปรากฏว่ามีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ 1 แล้ว7
คุณปรามินทร์ เครือทอง1 ได้อ้างเอกสารจดหมายเหตุที่บันทึกว่าการไป “จิ้มก้อง” ของคณะทูตสยามครั้งนี้ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 3,900,000 ตำลึง ดังนั้นทำไมพระเจ้าตากต้องแกล้งบ้า แกล้งตายเพื่อหนีหนี้เพียง 60,000 ตำลึง ยังเป็นข้อน่าสงสัยอยู่ในกรณีนี้
ดังนั้น หากสภาวะเศรษฐกิจในกรุงธนบุรีตกต่ำขนาดต้องกู้ยืมจีน 60,000 ตำลึงจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะมีความสามารถส่งเรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการ 4 ลำ และเรือสินค้าอีก 7 ลำ ไปยังเมืองจีนได้อย่างแน่นอน
ง. ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และขุนนางในสมัยพระเจ้าตาก
เนื่องจากผมไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และขุนนางในสมัยพระเจ้าตาก ผมจึงขอยึดเอาเอกสารสมัยอยุธยาตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ 2 ฉบับที่เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์13 และ นิโกลาส์ แชรแวส14 ประมาณ พ.ศ. 2231 หรือประมาณกว่า 80 ปี ก่อนยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยผมตั้งสมมติฐานว่าทั้ง 2 ยุคนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดย ลาลูแบร์13 ได้เขียนว่า
“…ไม่มีขุนนางคนใดในสยามที่ได้ค่าจ้างแรงงานเลย พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ พระราชทานที่อยู่อาศัยให้ ซึ่งก็มิใช่เรื่องใหญ่โตอะไรมากนักแล้วก็พระราชทานเครื่องอุปโภคลางสิ่งให้ เช่นหีบทองคำหรือหีบเงินสำหรับใส่หมากพลู พระราชทานสาตราวุธ เรือยาวลำหนึ่ง สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า และกระบือ เลกสมกำลังและเลกทาสสำหรับใช้สอย และที่ดินสำหรับทำเรือกสวนไร่นา แต่ของที่ได้รับพระราชทานทั้งปวงนี้ เมื่อต้องออกจากราชการเมื่อใดก็ต้องคืนกลับเป็นของหลวงทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาไปแล้วก็คล้ายกับว่า พระเจ้าแผ่นดินนั่นเองทรงเป็นทายาทของขุนนางทั้งปวง แต่รายได้สำคัญเกิดจากตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้นอยู่ที่การฉ้อราษฎร์บังหลวง…
…รายได้ของพระเจ้ากรุงสยามมีได้จากหลายทาง เช่น เงินภาษีอากร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีอากรในตัวเมืองกับภาษีอากรค่านา ตัวอย่างภาษีเช่น
1. พื้นที่นาที่ประกอบการกสิกรรมได้ 40 ตารางวา เรียกอากรค่า 1 มะยนหรือเสี้ยวของบาทต่อปี แต่อากรนี้แบ่งครึ่งกับเจ้าเมือง (ถ้ามี)
2. ภาษีเรือต่อหรือเรือขุด โดยราษฎรจะต้องเสียเป็นพิกัดตามความยาวของลำเรือคิดวาละหนึ่งบาท
3. ภาษีขาเข้าและออก เรียกเก็บจากสรรพสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าหรือส่งออกทางด้านทะเล
4. อากรสุรา
5. อากรทุเรียน
6. อากรค้างพลู
7. อากรต้นหมาก
8. ภาษีอย่างใหม่ เช่น ภาษีโรงบ่อน”13
โดยมีพระคลังเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ใหญ่ว่าการกรมการพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ท่านเป็นผู้อำนวยการพระคลังมหาสมบัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามด้วย13 นอกจากจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้าของพระมหากษัตริย์แล้ว “พระคลัง” ยังทำหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตและทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศทั้งสิ้น มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศด้านทะเลทั่วไป ตั้งแต่พิบพลี (เพชรบุรี) จรดถึงเทนนัสเซริม (ตะนาวศรี)14
เกี่ยวกับเรื่องเงินที่พระมหากษัตริย์ให้แก่ข้าราชการและทหารของพระองค์นั้น คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ4 ได้เขียนในหนังสือแผ่นดินพระเจ้าตาก โดยอ้างถึงจดหมายของบาทหลวงในสมัยกรุงธนบุรีได้เขียนไว้เกี่ยวกับเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหาร ความว่า
“…เมื่อวันที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2322 เป็นวันที่จะต้องแจกเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหารที่เข้ารีต พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งให้พวกนี้เข้าไปเฝ้าและได้รับสั่งว่าพวกนี้ไม่ได้ไปการทัพมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ทำการใช้อาวุธอย่างใด จึงสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน [ข้อความตรงนี้ ผมว่าน่าจะผิด ที่ถูกน่าจะเป็นสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน มากกว่า – ผู้เขียน] เพราะเงินพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ในห้องพระคลังนั้นเป็นเงินที่พระเจ้าตากได้ทรงหามาได้ด้วยทรงกระทำการดีและทรงได้มาด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า ก็เมื่อพวกเข้ารีตไม่ยอมทำการอย่างใดที่เกี่ยวด้วยการของพระพุทธเจ้าแล้ว พวกนี้ก็ไม่ควรได้รับเงินอย่างใด แต่ควรจะได้รับพระราชอาญาจึงจะถูก…”
จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ในอดีตนั้นทรงมีรายได้มากกว่ารายจ่ายมากนัก แต่ก็อาจจะมีคนเถียงผมว่า ในสมัยพระเจ้าตากมีศึกสงครามเกือบตลอดรัชกาล แต่อย่าลืมว่าสงครามต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นสงครามที่ทรงปราบปรามศึกต่าง ๆ ที่อยู่ไกลจากธนบุรี ทำให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สามารถทำมาหากินได้โดยไม่เดือดร้อน1
คุณปรามินทร์ เครือทอง15 ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียนโดยเห็นว่า
“…เป็นที่ทราบกันดีว่ากรุงธนบุรีต้องอยู่ในภาวะสงครามอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่การทำไร่ไถนาเมื่อต้นรัชกาลก็มักประสบปัญหา…”
แต่เมื่อถึงช่วงกลางรัชกาลเป็นต้นมา รัฐบาลกรุงธนบุรีก็สามารถจัดเก็บรายได้จากส่วนต่าง ๆ จนสามารถตั้งตัวได้ เช่นรายได้จากหัวเมืองขึ้นที่ทรงไปปราบ และยึดทรัพย์สินมาได้ครั้งละมาก ๆ ยังมีรายได้จากส่วยเมืองขึ้นการค้าต่างประเทศ มีการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก จดหมายบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจกรุงธนบุรี เมื่อปีจุลศักราช 1141 ตอนปลายรัชกาลว่า
เวลานี้ในเมืองไทย การศึกสงครามได้สงบเงียบแล้ว พวกพม่าข้าศึกเก่าของเราไม่ได้คิดที่จะกลับมาตีเมืองไทยอีก และเสบียงอาหารข้าวปลา นาเกลือก็จะกลับบริบูรณ์ขึ้นอีกแล้ว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อถึงช่วงปลายรัชกาลกรุงธนบุรี การเฉลิมฉลองในงานต่าง ๆ มักจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ ใช้เงินทองจำนวนมาก เช่น งานเฉลิมฉลองพระแก้วมรกตในปีจุลศักราช 1141 เป็นงานใหญ่ใช้เงินจัดงานอย่างมหาศาล หรือแม้แต่ในเดือน 10 เดือน 11 ของปีฉลู “พระราชทานเงินคนยากจนแลข้าราชการน้อยใหญ่เป็นอันมาก” ซึ่งก็สอดคล้องกับความสามารถของกรุงธนบุรีที่ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการถึง 4 ลำ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ ค. นั่นเอง
ดังนั้น รายได้ของพระเจ้าตากก็คงจะไม่น้อยไปกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ ในอดีตเท่าไรนัก ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน 60,000 ตำลึง จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
จ. การใช้แนวคิดของคนยุคปัจจุบันไปใส่ในความคิดของคนยุคกรุงธนบุรีทั้ง ๆ ที่บริบทต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาจทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ เช่น
จ.1 การกู้เงินจำนวนมาก (60,000 ตำลึง) นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเมืองจีนยังไม่ยอมรับสยามในยุคพระเจ้าตากตั้งแต่ต้นดังที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วในข้อ ข. นั้น แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่เมืองจีนจะให้สยามกู้เงิน
จ.2 ในเอกสารเรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ1, 7 ที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้เขียนไว้นั้น ได้กล่าวถึงจีนเจ้าสัวเดินทางจากเมืองจีนเพื่อทวงเงินที่เมืองสยาม แต่สุดท้ายเรืออับปางและถูกโจรสลัดปล้นฆ่า ผมว่าเป็นเรื่องที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก เพราะว่า เป็นถึงเจ้าสัวแต่ต้องเดินทางมาทวงเงินด้วยตนเอง ทั้งที่สามารถใช้ลูกน้องคนสนิทมาทวงเงินแทนได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากการเดินทาง และถึงแม้ว่าเจ้าสัวเสียชีวิตก็น่าจะมีทายาทมาทวงเงินจากพระเจ้าตากต่อไปได้อยู่ดี ไม่ใช่ว่ายอมให้หนี้สูญไปอย่างนี้
จ.3 การที่จีนจะยกกองทัพมาตีกรุงสยามหากพระเจ้าตากไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้เป็นเรื่องค่อนข้างจะเพ้อฝันมาก เพราะระยะทางจากเมืองจีนมายังกรุงสยามเป็นระยะทางเกินกว่า 1,000 กิโลเมตร และอาณาเขตทั้ง 2 อาณาจักรยังไม่ติดต่อกัน ถ้าจะรบจีนต้องยกทัพผ่านหลายเมือง เช่น ลาว พม่า เป็นต้น
ฉ. เหตุผลที่ผมมีความเห็นสอดคล้องกับเหตุผลได้จากหนังสือของคุณเตโชไชยการ9 ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พระเจ้าตากทรงกู้เงินจากจีน กล่าวคือ
ฉ.1 การทำศึกสงครามไม่ได้ใช้เงินเป็นหลัก แต่ใช้เสบียงอาหาร กำลังพล และอาวุธ เป็นหลักมากกว่า
ฉ.2 เมืองจีนในขณะนั้นกำลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่น่าจะมีเงินให้กู้ยืมจำนวนมาก
ฉ.3 พระเจ้าตากทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่กู้ชาติไทยจากพม่า ไม่น่าจะทรงกระทำการเบี้ยวหนี้ อันเป็นการเสียพระเกียรติอย่างยิ่งสำหรับกษัตริย์มหาราชเยี่ยงพระองค์
สรุป
ผมคิดว่าจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน เพราะว่าเมืองสยามกับเมืองจีนยังไม่ได้มีความสัมพันธไมตรีกันจนถึงปลายรัชกาลของพระองค์ โดยพระองค์ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงจีนมากมาย 4 ลำเรือ
และในยุครัตนโกสินทร์โดยเฉพาะรัชกาลที่ 1 ทรงบอกทางจีนว่า พระเจ้าตากเป็นพระราชบิดาของพระองค์โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์แต่ประการใด
บรรณานุกรม
1 ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตากเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
2 ปรามินทร์ เครือทอง. บรรณาธิการ. ปริศนาพระเจ้าตากฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
3 วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. รวมเรื่องสั้นใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2544.
4 วิบูล วิจิตรวาทการ. แผ่นดินพระเจ้าตาก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2545.
5 ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์. ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2551.
6 สุทัสสา อ่อนค้อม. ความหลงในสงสาร. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2550.
7 ทิพยจักร. ญาณพระอริยะ ไขปริศนาพระเจ้าตาก. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2555.
8 สุภา ศิริมานนท์. ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข. พิมพ์ครั้งที่ 7. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2553.
9 วินัย พงศ์ศรีเพียร. หมิงสือลู่–ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยามฯ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559.
10 เตโชไชยการ. ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน. กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2556.
11 น.นกยูง. มหาราช 2 แผ่นดิน. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2555.
12 ว.วรรณพงษ์, ภมรพล ปริเชฏฐ์. พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย?. กรุงเทพฯ : คลังสมอง, 2558
13 ลาลูแบร์, มองซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร).
14 แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร)
15 ปรามินทร์ เครือทอง. ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
(จำนวนผู้เข้าชม 12528 ครั้ง)