ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ชิ้นส่วนธรรมจักรสลักจากหิน กว้าง ๓๗ เซนติเมตร ยาว ๗๕ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุดพบเพียงครึ่งวง เป็นธรรมจักรประเภทสลักทึบ ไม่เจาะช่องว่างระหว่างซี่กำ ตรงกลางเป็นดุมกลมยื่นออกมา ล้อมด้วยแถบลายกลีบบัว ถัดออกมาเป็นส่วนซี่กำสลักลายคล้ายหัวเสา ส่วนกงล้อสลักลวดลายเม็ดเพชรพลอยสลับด้วยลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาบด้วยแถบลายจุดไข่ปลาหรือลายเม็ดประคำ กรอบนอกของกงล้อสลักลายเปลวไฟ ลวดลายที่ปรากฏเป็นลวดลายที่นิยมสลักบนธรรมจักรในสมัยทวารวดี ซึ่งยังพบบนธรรมจักรศิลา ที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๒ และ ๑๑ เมืองโบราณอู่ทองด้วย กำหนดอายุชิ้นส่วนธรรมจักรนี้ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว
ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนเหตุการณ์การแสดงธรรมครั้งแรกของพระพุทธเจ้า หรือการปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณาสี ประเทศอินเดีย โดยนิยมทำคู่กับประติมากรรมรูปกวางหมอบ การใช้สัญลักษณ์รูปธรรมจักรพบตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๖ (ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว) จากหลักฐานภาพสลักรูปธรรมจักรบนเสาโตรณะ ที่สถูปสาญจี ถือเป็นภาพสลักที่เห็นถึงความสมบูรณ์ขององค์ประกอบของเสาธรรมจักรที่ยังเหลืออยู่ ปัจจุบันยังพบร่องรอยการตั้งเสาธรรมจักร ณ สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น สถูปที่เมืองสารนาถซึ่งเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างเสาธรรมจักรพร้อมจารึกตั้งไว้ด้านหน้าของสถูป ต่อมาเมื่อความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปได้แพร่หลายขึ้น การสร้างเสาธรรมจักรในประเทศอินเดียจึงลดลง การสร้างรูปธรรมจักรจึงปรากฏเป็นองค์ประกอบร่วมกับพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา
บริเวณเมืองโบราณอู่ทองพบธรรมจักรศิลารวมทั้งสิ้น ๔ ชิ้น ที่สำคัญคือธรรมจักรศิลาพร้อมเสาและแท่นฐานรองรับ พบจากขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ ซึ่งพบเพียงชุดเดียวในประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในสมัยทวารวดีมีการประดิษฐานธรรมจักรบนเสาพร้อมแท่นฐานรองรับ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศาสนสถาน ตามคติที่รับมาจากอินเดีย นอกจากนี้ยังพบรูปธรรมจักรหันด้านสันออก ขนาบด้วยกวางหมอบเหลียวหลังทั้ง ๒ ข้าง บริเวณส่วนฐานของพระพุทธรูปศิลาแสดงพุทธประวัติตอนแสดงปฐมเทศนาด้วย โบราณวัตถุดังกล่าวนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนไทยในระยะแรก เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ลวดลายในศิลปะทวารวดี : การศึกษาที่มาและการตรวจสอบกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-วกาฏกะ.(พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๕.
ธนิต อยู่โพธิ์. ธรรมจักร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร , ๒๕๐๘.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทวารวดีศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
อมราลักษณ์ ทรัพย์สุคนธ์. “วิวัฒนาการของลวดลายบนธรรมจักรสมัยทวารวดี”. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร์บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๕.
ที่มาภาพประกอบ
ห้องสมุดดิจิตอล ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เว็บไซต์ http://www.thapra.lib.su.ac.th/supatlib
(จำนวนผู้เข้าชม 292 ครั้ง)