...

ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ

        ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง

        ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ พบจากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษเรื่อง โบราณวัตถุสำคัญจากเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

        ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ พบเพียงบริเวณส่วนศีรษะถึงลำตัว กว้าง ๑๕.๕ เซนติเมตร สูง ๒๓ เซนติเมตร ประติมากรรมรูปคนแคระมีใบหน้ากลม คิ้วนูนต่อเป็นปีกกา ตากลมโปน จมูกทรงสามเหลี่ยมมีขนาดใหญ่ ปากยกยิ้ม บริเวณหูประดับตุ้มหูทรงกลมขนาดใหญ่เจาะรูตรงกลางเป็นลักษณะที่นิยมในสมัยทวารวดี หากประติมากรรมมีความสมบูรณ์จะแสดงท่วงท่าการแบกเช่นเดียวกับประติมากรรมคนแคระแบกชิ้นอื่น ๆ ในศิลปะทวารวดี ที่น่าสังเกตคือ แกนภายในของประติมากรรมทำจากอิฐ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้ยึดติดกับผนังของสถาปัตยกรรม จึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับการสร้างหรือซ่อมแซมโบราณสถานหมายเลข ๒ 

        ประติมากรรมรูปคนแคระปรากฏในศิลปะอินเดียโบราณ ต่อเนื่องมาถึงศิลปะคุปตะ ซึ่งนิยมทำประติมากรรมคนแคระในท่าแบกไว้ประดับส่วนฐานอาคาร สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับคติผู้ดูแลและค้ำจุนศาสนสถาน รูปลักษณ์ของคนแคระที่อ้วนพุงพลุ้ยยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ประติมากรรมรูปคนแคระแบกในสมัยทวารวดีนิยมประดับบริเวณส่วนฐานเจดีย์  สอดคล้องกับโบราณสถานหมายเลข ๒ ที่ส่วนฐานอาคารบริเวณท้องไม้มีการแบ่งช่องสำหรับประดับประติมากรรม  ซึ่งในศิลปะอินเดียฐานอาคารที่มีท้องไม้แบ่งช่องประดับด้วยประติมากรรมพบในศิลปะปาละตอนต้น และได้ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะทวารวดีในเวลาต่อมา จึงกำหนดอายุประติมากรรมคนแคระนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือราว ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว

        นอกเหนือจากประติมากรรมคนแคระแบกที่พบจากโบราณสถานหมายเลข ๒ ยังพบประติมากรรมดินเผาประดับสถาปัตยกรรมรูปแบบอื่นในเมืองโบราณอู่ทอง ได้แก่ ประติมากรรมรูปนรสิงห์แบก และประติมากรรมรูปกินรีในท่าร่ายรำ เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : โรงพิมพ์ สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๕.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทาวศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). นนทบุรี : เมืองโบราณ,  ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 302 ครั้ง)


Messenger