ตราดินเผารูปบุคคลถืออาวุธ สมัยทวารวดี
ตราดินเผารูปบุคคลถืออาวุธ สมัยทวารวดี
ตราดินเผารูปบุคคลถืออาวุธ จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราดินเผาทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๖ เซนติเมตร ผิวหน้ามีรอยประทับนูนต่ำรูปบุคคล ๒ คน ภาพบุคคลทั้ง ๒ เป็นเพียงเค้าโครงอย่างง่าย ไม่แสดงรายละเอียดที่ชัดเจน บุคคลที่ ๑ อยู่ด้านหน้า มีขนาดใหญ่กว่าคนด้านหลังเล็กน้อย กำลังทำท่าก้าวเดินไปด้านหน้า โดยหันศีรษะไปมองคนด้านหลัง ส่วนบุคคลที่ ๒ เดินตามคนด้านหน้า มือซ้ายอาจจับแขนคนด้านหน้า ส่วนมือขวายกขึ้นเหนือศีรษะ ชูวัตถุเรียวยาว อาจเป็นอาวุธประเภทดาบ กระบอง หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง
รูปบุคคลบนตราดินเผานี้ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นรูปบุคคลใด หรือเป็นเหตุการณ์ใด เนื่องจากไม่มีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกับรูปบุคคลได้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะการถืออาวุธของบุคคลที่ ๒ อาจสันนิษฐานได้ว่าบุคคลที่ ๒ กำลังจะใช้อาวุธทำร้ายบุคคลที่ ๑ อาจเป็นภาพที่แสดงเหตุการณ์การต่อสู้ การละเล่น การประกอบพิธีกรรม หรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธก็เป็นได้
ตราดินเผารูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ พบมาแล้วในศิลปะอินเดีย ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีนอกจากตราดินเผาชิ้นนี้ ยังพบตราดินเผารูปบุคคลอีกหลายแบบ เช่น รูปบุคคลปีนต้นไม้ พบที่เมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ รูปบุคคล ๒ คนขี่ม้าตีคลี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
สันนิษฐานว่าตราดินเผาชิ้นนี้น่าจะผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบและคติความเชื่อมาจากอินเดีย สันนิษฐานว่าอาจเป็นการนำเหตุการณ์สำคัญ หรือเหตุการณ์ที่พบเห็นประจำ มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายต้นแบบบนตราประทับ เพื่อใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวบุคคลหรือกลุ่มคน อาจเป็นชนชั้นปกครองก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
ณัฏฐภัทร จันทวิช. “อารยธรรมโบราณที่อู่ทอง”. ศิลปากร ๔๐, ๔ (กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๐) : ๖๓ - ๘๓.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 421 ครั้ง)