...

พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยรูปบุคคล สมัยทวารวดี

      พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยรูปบุคคล สมัยทวารวดี

      พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยรูปบุคคล จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

      พระพิมพ์ดินเผา ขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร ยาว ๔.๓ เซนติเมตร ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนโค้งมน ด้านหน้าค่อนข้างลบเลือนมาก จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกับพระพิมพ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ สันนิษฐานว่ามีภาพพระพุทธเจ้าแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) นั่งห้อยพระบาทอยู่ตรงกึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยรูปบุคคลยืนตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ที่อาจเป็นพระโพธิสัตว์หรือเทวดา ด้านล่างมีรูปธรรมจักรหันด้านสันออกมาด้านหน้าขนาบข้างด้วยรูปสถูป ด้านบนมีภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางสมาธิเรียงกัน ๓ องค์ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) 

      พระพิมพ์รูปแบบคล้ายคลึงกันนี้พบจากแหล่งโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น วัดพระเมรุ พระปฐมเจดีย์ และที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะที่เจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังพบพระพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก แตกต่างเพียงพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบแทนนั่งห้อยพระบาท นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ดินดิบศิลปะศรีวิชัยรูปแบบคล้ายคลึงกันนี้ตามแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย เช่น ถ้ำเขาอกทะลุ และถ้ำคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง และควนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น แสดงถึงความสัมพันธ์และการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันระหว่างศิลปะทวารวดีและศรีวิชัย ซึ่งเจริญขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

     นักวิชาการสันนิษฐานคติการสร้างออกเป็น ๒ แนวทาง คืออาจสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” แก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบนเขาคิชฌกูฏ หรือยอดเขาแร้ง ใกล้กรุงราชคฤห์ ตามคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หรืออาจแสดงถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ตามคัมภีร์ชาดกอรรถกถาภาษาบาลี ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง 

ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่า จีน: กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.

นิติพันธุ์ ศิริทรัพย์. “พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีที่นครปฐม”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๔.

สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์, ม.ล. “การศึกษาพระพิมพ์ภาคใต้ของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหา บัณฑิต  สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 449 ครั้ง)


Messenger