โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ ตั้งอยู่บนยอดเขารางกะปิด
โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ ตั้งอยู่บนยอดเขารางกะปิด พื้นที่บ้านเขาพระ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
หลักฐานจากการดำเนินงานทางโบราณคดีพบว่า โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เป็นสิ่งก่อสร้างประเภท เจดีย์ ที่ก่อสร้างจากหินธรรมชาติ ศิลาแลง และอิฐ แต่ปัจจุบันเสื่อมสภาพไม่สามารถทราบรูปแบบได้ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้สำรวจทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และดำเนินงานขุดศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เสริมความมั่นคงเพิ่มเติม
โบราณวัตถุที่สำคัญซึ่งพบจากโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ ได้แก่ พระพิมพ์ดินเผาอิทธิพลปาละพิมพ์เดียวกันหลายองค์ซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผา โดยฝังอยู่ใต้ฐานโครงสร้างโบราณสถาน จึงสามารถกำหนดอายุโบราณสถานว่าสร้างในสมัยทวารวดี
ภาชนะดินเผา
เป็นภาชนะมีคอปากผาย ขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือที่เรียกว่า ทรงไห ส่วนลำตัวตกแต่งด้วยการนำเส้นดินบิดมาแปะติดคล้ายเกลียวเชือก ส่วนบ่ากดลายเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียงเป็นแถวแนวนอน และเส้นลวดอีก ๒ เส้น ภายในบรรจุพระพิมพ์ดินเผาหลายองค์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พระพิมพ์ดินเผา (มีจารึก)
เป็นพระพิมพ์รูปพระพุทธรูปปางสมาธิ มีประภามณฑล ประทับบนบัลลังก์เหลี่ยมแวดล้อมด้วยเครื่องสูง ๕ ตำแหน่ง คือ เหนือพระเศียรมีฉัตร ๑ คัน ข้างพระวรกาย ในระดับพระเศียรมีบังแทรกหรือบังสูรย์ ๒ คัน ถัดลงมามีจามร ๒ คัน ด้านหลังพระพิมพ์มีจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ กล่าวว่า “บุญนี้(เป็นของ)กษัตริย์มะระตา(ผู้สร้าง)พระพุทธรูป จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยกษัตริย์หรือชนชั้นปกครองในสมัยทวารวดี
เอกสารอ้างอิง
ปรัชญา รุ่งแสงทอง. ผลการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ กับการตอบคำถามเรื่อง “หินตั้ง”ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พุหางนาคและคอกช้างดินร่องรอยพุทธและพราหมณ์บนเขาศักดิ์สิทธิ์. สมุทรสาคร:บางกอกอินเฮ้าส์, ๒๕๖๑.
ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.
สุภมาศ ดวงสกุล และคณะ. ศาสนสถานและสิ่งก่อสร้างบนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองอู่ทอง : ผลการสำรวจทางโบราณคดีบนเขตภูเขานอกเมืองอู่ทอง พ.ศ.๒๕๖๒. สุพรรณบุรี : สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 616 ครั้ง)