...

พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “โกลิวิโส” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง



         พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “โกลิวิโส” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง

         พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “โกลิวิโส” พบร่วมกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่น ๆ รวม ๗ องค์ จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพิมพ์พระสาวก กว้าง ๕.๗ เซนติเมตร สูง ๖ เซนติเมตร ส่วนเศียรชำรุดหักหายไป หากมีสภาพสมบูรณ์สันนิษฐานว่ามีรูปแบบศิลปกรรมเหมือนพระพิมพ์พระสาวกองค์อื่น ๆ ที่พบร่วมกัน กล่าวคือ มีเศียรเรียบไม่มีอุษณีษะและเม็ดพระศกเหมือนพระพุทธรูป มีพักตร์กลม ขนงต่อกันเป็นปีกกา เนตรเหลือบต่ำ นาสิกใหญ่ โอษฐ์แบะ ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดอังสาขวา หัตถ์ทั้งสองประสานกันในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานเรียบ มีแผ่นหลังรูปสามเหลี่ยมปลายมน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จำนวน ๑ บรรทัด ความว่า “โกลิวิโส” กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว 

         นักวิชาการเสนอว่าจารึก “โกลิวิโส” มาจากนาม “โสโณ โกฬิวิโส” หมายถึง พระโสณโกฬิวิสะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านความเพียร เมื่อคราวบำเพ็ญเพียรก็กระทำเกินความพอดี คือเดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินไม่ได้จึงคลาน เมื่อคลานจนเข่าแตก มือแตกแต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้จนคิดสึกเป็นคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้บำเพ็ญเพียรแต่พอดี โดยเปรียบเทียบกับสายพิณที่ขึงตึงเกินไป หย่อนเกินไป และตึงพอดี พระโสณโกฬิวิสะจึงได้บำเพ็ญเพียรแต่พอดีจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

         พระโสณโกฬิวิสะ ยังเป็นหนึ่งใน “พระอสีติมหาสาวก” ซึ่งหมายถึงพระสาวกสำคัญจำนวน ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ภาษาบาลีของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เช่นเดียวกันกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่นที่พบร่วมกัน ได้แก่ พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ หรือ พระมหากัจจายนะ พระกังขาเรวตะ และพระปุณณสุนาปรันตะ การพบพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคติการนับถือพระอสีติมหาสาวกในสมัยทวารวดี ซึ่งในปัจจุบันมีหลักฐานว่าพบเพียงที่เมืองโบราณอู่ทองเท่านั้น จึงอาจเป็นคติที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

จิรัสสา คชาชีวะ. “คำ “เมตเตยยะ” ที่เก่าที่สุดที่ได้พบจากหลักฐานประเภทจารึกในประเทศไทย”. ดำรงวิชาการ ๒, ๓ (มกราคม - มิถุนายน ๒๕๔๖) : ๒๙ - ๓๘.

ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน :  กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัย ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖. 

ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี.” ใน เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าใน การศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี,  ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖.

ปัญญา ใช้บางยาง. ๘๐ พระอรหันต์ (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๕๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 453 ครั้ง)


Messenger