...

ตราดินเผารูปสิงห์นั่งชันเข่า จากเมืองโบราณอู่ทอง

         ตราดินเผารูปสิงห์นั่งชันเข่า จากเมืองโบราณอู่ทอง

         ตราดินเผารูปสิงห์นั่งชันเข่า พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง 

         ตราดินเผา กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร สูง ๓ เซนติเมตร รูปทรงค่อนข้างกลม ผิวหน้ามีรอยกดประทับเป็นรูปสัตว์ ๔ เท้า อยู่ในท่านั่งชันเข่า ส่วนหัวชำรุดรายละเอียดลบเลือนไป เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับตราดินเผารูปสิงห์นั่งชันเข่าประกอบสัญลักษณ์มงคล พบที่บ้านซับน้อย อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก 

         สิงห์เป็นสัตว์มงคลที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา ตามคติความเชื่อเนื่องในศาสนาพุทธ สิงห์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิงห์แห่งศากยวงศ์ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีอำนาจและพละกำลัง เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีพบรูปสิงห์เป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรูปสัตว์ชนิดอื่น รูปสิงห์ที่พบมีหลายอิริยาบถ ที่พบมากคือรูปสิงห์นั่งชันเข่า สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย 

นอกจากตราดินเผาที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังพบรูปสิงห์นั่งชันเข่าจากแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีอื่นๆ เช่น ประติมากรรมรูปสิงห์นั่งชันเข่าประดับศาสนสถาน พบที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และโบราณสถานที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ยังพบบนเศษภาชนะดินเผาที่บ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี และเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ อีกด้วย

         สันนิษฐานว่าตราดินเผารูปสิงห์นี้เป็นของที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบและคติความเชื่อมาจากอินเดีย อาจใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือเป็นชนชั้นสูง รวมถึงอาจใช้เป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

ดวงกมล อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 405 ครั้ง)


Messenger