ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี แสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์”
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี แสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์”
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผารูปบุคคลยืนตริภังค์ (เอียงสะโพก) จำนวน ๓ ชิ้น เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง มีรายละเอียดดังนี้
ชิ้นที่ ๑ กว้าง ๘ เซนติเมตร สูง ๗.๕ เซนติเมตร ด้านหน้ามีภาพบุคคลยืนตริภังค์ แสดงอัญชลีมุทรา ไม่ปรากฏฉลองพระองค์ สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนพระศอลงมาจนถึงพระโสณี ด้านหลังแบนเรียบ
ชิ้นที่ ๒ กว้าง ๘ เซนติเมตร สูง ๙ เซนติเมตร ด้านหน้ามีภาพบุคคลยืนตริภังค์ ผินพระพักตร์ไปด้านซ้าย พระหัตถ์ขวาวางไว้บริเวณพระโสณีทรงก้านดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระพาหา ไม่ปรากฏฉลองพระองค์ สภาพชำรุดมีเฉพาะส่วนพระเศียรลงมาจนถึงพระอูรุ (ต้นขา) ด้านหลังแบนเรียบ
ชิ้นที่ ๓ กว้าง ๘.๕ เซนติเมตร สูง ๑๒ เซนติเมตร ด้านหน้ามีภาพบุคคลยืนตริภังค์ พระหัตถ์ซ้ายวางไว้บริเวณพระโสณี (สะโพก) ทรงถือก้านดอกบัว พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพาหา ไม่ปรากฏฉลองพระองค์ แต่ทรงพระภูษาซึ่งยาวถึงพระชงฆ์ สภาพชำรุดพระเศียรหักหายไป ด้านหลังแบนเรียบ
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบชิ้นส่วนรูปบุคคลทั้ง ๓ ชิ้นกับพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีชิ้นอื่นๆ พบว่า มีลักษณะตรงกับรูปบุคคลที่ปรากฏบนพระพิมพ์ดินเผาซึ่งสันนิษฐานว่าแสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์” แสดงถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี โดยประทับบนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดยราชานาคนันทะและอุปนันทะ มีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาทั้งหลายลงมาเฝ้า ตัวอย่างพระพิมพ์ปางดังกล่าว ได้แก่ พระพิมพ์ที่พบบริเวณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่ สูง ๓๓.๘ เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางมีภาพพระพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิราบบนดอกบัวมีก้าน มีประภามณฑลเป็นวงโค้งรอบพระเศียร พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ด้านข้างซ้ายขวามีรูปบุคคลยืนตริภังค์ทรงดอกบัว สันนิษฐานว่าอาจเป็นราชานาคนันทะและอุปนันทะ ถัดขึ้นไปด้านซ้ายขวามีภาพบุคคลยืนตริภังค์แสดงอัญชลีมุทรา สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระอินทร์และพระพรหม
จากการศึกษาเปรียบเทียบกับพระพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น จึงสันนิษฐานว่าชิ้นส่วนทั้ง ๓ ชิ้น แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน คือพระพิมพ์ดินเผาแสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์” โดยชิ้นที่ ๑ เป็นชิ้นส่วนมุมบนขวา เป็นรูปของพระพรหม ส่วนชิ้นที่ ๒ และ ๓ เป็นชิ้นส่วนมุมล่างขวาและซ้ายตามลำดับ และเป็นรูปของราชานาคนันทะและอุปนันทะ แม้ชิ้นส่วนพระพิมพ์ทั้ง ๓ ชิ้นนี้จะอยู่ในสภาพชำรุด แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงถึงรูปแบบพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่ที่เป็นรูปแบบพิเศษที่ปรากฏในสมัยทวารวดี เนื่องจากพบจำนวนไม่มากนัก กำหนดอายุชิ้นส่วนพระพิมพ์ทั้ง ๓ ชิ้นนี้ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
อนึ่ง น่าเสียดายว่าไม่สามารถระบุที่มาของชิ้นส่วนพระพิมพ์ทั้ง ๓ ชิ้น ดังกล่าวได้แน่ชัด ว่ามีที่มาจากพระพิมพ์องค์เดียวกันหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้พบชิ้นส่วนทั้ง ๓ ชิ้น ร่วมกัน โดยได้จากการสำรวจทางโบราณคดี ๒ ชิ้น และรับมอบจากการบริจาคของประชาชน ๑ ชิ้น
เอกสารอ้างอิง
ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
สินชัย กระบวนแสง. “พระพิมพ์ซึ่งพบที่บ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี”. ใน รายงานเบื้องต้น การขุดค้นโบราณสถานสมัยทวารวดี ที่บ้านคูเมือง ตำบลบางชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๙.
ที่มารูปภาพ
ภาพพระพิมพ์ดินเผาแสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์”จากบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จาก Jean Boisselier, “Travaux de la mission archeologique francaise en Thailande (juillet-novembre 1966), ” fig.60. อ้างถึงใน ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 345 ครั้ง)