ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุรุษ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุรุษ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุรุษ ได้จากวัดช่องลม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปศีรษะบุรุษ กว้าง ๑๑.๕ เซนติเมตร สูง ๑๓ เซนติเมตร ใบหน้ากว้างค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา ตาเรียวเหลือบต่ำ จมูกโด่งและใหญ่ ริมฝีปากหนามีเส้นขอบที่ขีดเป็นร่อง อมยิ้มเล็กน้อย ผมเรียบเฉพาะบริเวณด้านข้างตกแต่งด้วยเส้นตรงขีดเป็นร่องในแนวตั้ง ด้านหลังประติมากรรมแบนเรียบ
ลักษณะใบหน้าของประติมากรรมที่มีคิ้วต่อกันเป็นปีกกา จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา เป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ของใบหน้าประติมากรรมบุคคลในสมัยทวารวดีที่มีการพัฒนาจากศิลปะอินเดียที่เป็นต้นแบบแล้ว จึงกำหนดอายุประติมากรรมชิ้นนี้ในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
เนื่องจากประติมากรรมมีแผ่นหลังที่แบนเรียบ จึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมนี้เคยประดับบนผนังของสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดี ซึ่งมักก่อด้วยอิฐ และนิยมประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมดินเผาหรือปูนปั้น พบหลักฐานประติมากรรมสำหรับประดับสถาปัตยกรรมจำนวนมากตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี เช่น ประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก พบที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ประติมากรรมปูนปั้นรูปนักดนตรี และประติมากรรมดินเผารูปชาวต่างชาติ พบที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระประดับฐานเจดีย์เขาคลังใน จังหวัดศรีเทพ และประติมากรรมดินเผารูปพระภิกษุสามองค์อุ้มบาตร พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
แม้ประติมากรรมชิ้นนี้จะอยู่ในสภาพชำรุดมีเพียงศีรษะ แต่ก็เป็นประติมากรรมปูนปั้นที่ผลิตขึ้นด้วยความประณีต แสดงถึงเทคนิคการประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมของช่างพื้นเมืองสมัยทวารวดี และยังอาจเป็นหลักฐานที่แสดงถึงเค้าโครงหน้าตาของผู้คนในสมัยทวารวดีด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1124 ครั้ง)