พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “เมตฺเตยฺยโก” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “เมตฺเตยฺยโก” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “เมตฺเตยฺยโก” พบร่วมกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่น ๆ รวม ๗ องค์ จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพิมพ์พระสาวก กว้าง ๖ เซนติเมตร สูง ๙.๕ เซนติเมตร เศียรเรียบไม่มีอุษณีษะและเม็ดพระศกเหมือนพระพุทธรูป จึงสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสาวก มีพักตร์กลม ขนงต่อกันเป็นปีกกา เนตรเหลือบต่ำ นาสิกใหญ่ โอษฐ์แบะ ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดอังสาขวา หัตถ์ทั้งสองประสานกันในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานเรียบ มีแผ่นหลังรูปสามเหลี่ยมปลายมน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จำนวน ๑ บันทัด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ความว่า “เมตฺเตยฺยโก”
นักวิชาการเสนอว่าจารึก “เมตฺเตยฺยโก” สามารถแปลความได้ ๒ ประการ ดังนี้
๑. หมายถึง พระศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป แต่มีข้อสังเกตว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ไม่นิยมสร้างพระศรีอาริยเมตไตรยในรูปลักษณ์ของพระสาวก แต่พระพิมพ์องค์นี้อาจเป็นความนิยมเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นได้ หากพระพิมพ์องค์นี้หมายถึงพระศรีอาริยเมตไตรย ก็นับเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตไตรยที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในดินแดนไทย ทั้งนี้ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี พบหลักฐานจารึกเกี่ยวกับพระศรีอริยเมตไตรยน้อยมาก นอกจากพระพิมพ์องค์นี้แล้วยังพบบนจารึกใบเสมาวัดโนนศิลา ๑ ที่จังหวัดขอนแก่นด้วย โดยเนื้อหาจารึกเกี่ยวกับการทำบุญ และอธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย จารึกด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
๒. หมายถึง พระติสสเมตเตยยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม “พระอสีติมหาสาวก” หมายถึงพระสาวกสำคัญจำนวน ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ภาษาบาลีของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งสอดคล้องกันกับจารึกด้านหลังพระพิมพ์องค์อื่นที่พบร่วมกัน ได้แก่ “สาริปุตฺโต” คือ พระสารีบุตร “มหากะ” อาจหมายถึง มหากสฺสโป คือ พระมหากัสสปะ หรือ มหากจฺจายโน คือ พระมหากัจจายนะ “โกลิวิโส” หมายถึง โสโณ โกฬิวิโส คือ พระโสณโกฬิวิสะ “กงฺขาเร...” หมายถึง กงฺขาเรวโต คือ พระกังขาเรวตะ “...รันโต” หมายถึง ปุณโณ สุนาปรนฺโต คือ พระปุณณะสุนาปรันตะ แต่มีข้อสังเกตว่านามที่ปรากฏในคัมภีร์คือ “ติสฺสเมตฺเตยฺโย” ซึ่งมีความแตกต่างจากจารึก เมตฺเตยฺยโก อยู่เล็กน้อย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. “จารึกในประเทศไทย เล่ม ๒ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรมอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๒๑”. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๙.
จิรัสสา คชาชีวะ. “คำ “เมตเตยยะ” ที่เก่าที่สุดที่ได้พบจากหลักฐานประเภทจารึกในประเทศไทย”. ดำรงวิชาการ ๒, ๓ (มกราคม - มิถุนายน ๒๕๔๖) : ๒๙ - ๓๘.
ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี.” ใน เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าใน การศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี, ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 340 ครั้ง)