ประติมากรรมปูนปั้นเศียรยักษ์ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นเศียรยักษ์ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นเศียรยักษ์ พบบริเวณศาลเจ้าพ่อพระยาจักร อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมลอยตัว กว้าง ๒๐ เซนติเมตร สูง ๒๓ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุดมีเฉพาะส่วนเศียร มีใบหน้าค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วเป็นสันนูน ตาโปนพองโตเซาะเป็นร่อง จมูกแบนใหญ่ ปลายจมูกหักหายไป มีหนวดเหนือริมฝีปาก ปากแบะ ริมฝีปากหนา มีเขี้ยวที่มุมปากทั้งสองข้าง ใบหน้าแสดงความดุร้าย สวมเครื่องประดับศีรษะ ที่มีลักษณะเป็นกรอบกระบังหน้า ประดับด้วยตาบ รายละเอียดส่วนอื่นชำรุด นอกจากนี้ยังสวมตุ้มหูทรงแผ่นกลมขนาดใหญ่ ภายในมีลายวงกลมซ้อนลดหลั่นกัน ซึ่งตุ้มหูรูปแบบนี้พบในประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นรูปบุคคล อสูร และคนแคระในสมัยทวารวดี เมื่อพิจารณาลักษณะของใบหน้าและเครื่องประดับสันนิษฐานว่าเป็นเศียรยักษ์
ลักษณะใบหน้าของประติมากรรมชิ้นนี้เป็นแบบพื้นเมืองทวารวดี คือ มีตาโปน จมูกแบนใหญ่ ริมฝีปากหนา สวมตุ้มหูทรงแผ่นกลมขนาดใหญ่ และปรากฏอิทธิพลของศิลปะเขมรร่วมอยู่ด้วย คือ มีหนวดเหนือริมฝีปาก ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏขึ้นในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีตอนปลาย จึงกำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ หรือ ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว
สันนิษฐานว่าประติมากรรมชิ้นนี้ เป็นประติมากรรมลอยตัวสำหรับประดับบริเวณประตูหรือทางเข้า เพื่อทำหน้าที่เป็นทวารบาลผู้พิทักษ์ศาสนสถาน การประดับประติมากรรมรูปยักษ์บริเวณทางเข้าศาสนสถาน พบมาแล้วในศิลปะอินเดีย และยังส่งอิทธิพลให้ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี นอกจากประติมากรรมเศียรยักษ์ชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นรูปยักษ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นทวารบาลตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีแห่งอื่น เช่น เศียรยักษ์พบที่หน้าบริเวณที่ทำการไปรษณีย์ จังหวัดลพบุรี ทวารบาลดินเผารูปยักษ์ พบที่โบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๔.
เฉิดฉันท์ รัตน์ปิยะภาภรณ์. “การศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบของ “ยักษ์” จากประติมากรรมที่พบในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๑.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 944 ครั้ง)