ภาชนะดินเผามีพวยจากแหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง
ภาชนะดินเผามีพวยจากแหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง
ภาชนะดินเผามีพวยพบจากการขุดศึกษาทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่อยู่อาศัย แหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ภาชนะดินเผามีพวย ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เนื้อดินละเอียดสีส้ม อยู่ในสภาพชำรุด ขอบปากแตกหักหายไป เหลือเพียงส่วนคอทรงกระบอกสูงคอดเว้าตรงกลาง ส่วนบนและล่างผายออก มีพวยสั้น ทรงโค้งติดอยู่ ส่วนลำตัวและก้นภาชนะแตกหักหายไป เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบของภาชนะดินเผาแบบมีพวย ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ในยุคสมัยเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่า หากภาชนะใบนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ น่าจะมีลำตัวเป็นทรงกลม มีฐานทรงกลมเตี้ยรองรับ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
ภาชนะดินเผามีพวย หรือที่นิยมเรียกว่า “กุณฑี” เป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำหรือของเหลว โดยใส่ของเหลวเข้าไปทางปากภาชนะ และเทของเหลวออกทางพวย พบทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าภาชนะดินเผามีพวยขนาดใหญ่ทำขึ้นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนขนาดเล็กใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรม นักวิชาการสันนิษฐานว่า ภาชนะดินเผามีพวยที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี น่าจะมีต้นแบบมาจากภาชนะดินเผามีพวยของอินเดีย โดยอินเดียอาจได้รับรูปแบบมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียอีกทอดหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นของตนเอง
ภาชนะดินเผามีพวย นอกจากจะพบที่เมืองโบราณอู่ทองแล้ว ยังพบได้ทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี ทั้งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแหล่งโบราณคดีบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งแหล่งโบราณคดีบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอายุสมัยใกล้เคียงกันด้วย ภาชนะดินเผามีพวยใบนี้แม้จะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงถึงสิ่งของเครื่องใช้ของผู้คนในพื้นที่บริเวณนี้ และยังแสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนของผู้คนท้องถิ่นบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง กับผู้คนจากภายนอก ในช่วงเวลาดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
เกญพริษฐ์ พัฒฑิธนโชติภาคิน. “รูปแบบและบทบาทหน้าที่ของกุณฑีในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.
ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ เมือง โบราณ, ๒๕๖๒.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล. โบราณสถานคอกช้างดินเมืองเก่าอู่ทอง รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี พุทธศักราช ๒๕๔๐. สุพรรณบุรี ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี, ๒๕๔๐. อ้างถึงใน กรมศิลปากร. โบราณคดีคอกช้างดิน. กรุงเทพฯ ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 536 ครั้ง)