ตะเกียงดินเผา สมัยทวารวดี
ตะเกียงดินเผา สมัยทวารวดี
ตะเกียงดินเผา พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตะเกียงดินเผา ขึ้นรูปด้วยมือ ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร ยาว ๑๙ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุด แตกต่อไว้ ส่วนลำตัวที่เป็นถ้วยหักหายไปบางส่วน มีลำตัวลักษณะคล้ายถ้วยรูปทรงกลม ปากกลม ก้นแบน สำหรับใส่น้ำมัน มีพวยยาวยื่นออกมาจากลำตัว ปากพวยทรงกลมอยู่ในระดับเสมอกับปากถ้วย สำหรับสอดไส้ตะเกียงเพื่อจุดไฟให้แสงสว่าง เนื้อตะเกียงค่อนข้างหยาบและหนา พื้นผิวด้านนอกขรุขระ ไม่ตกแต่งลวดลาย กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
ตะเกียงดินเผารูปแบบนี้ นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “ตะเกียงโรมัน” หรือ “ตะเกียงอานธระ” เนื่องจากมีรูปทรงและลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกับตะเกียงโรมันสำริด ซึ่งพบที่ชุมชนโบราณพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี และยังคล้ายคลึงกับตะเกียงดินเผาที่มีต้นแบบจากตะเกียงโรมัน ซึ่งผลิตขึ้นในแคว้นอานธระซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียอีกด้วย นักวิชาการสันนิษฐานว่าตะเกียงดินเผารูปแบบนี้น่าจะผลิตขึ้นในท้องถิ่น โดยอาจมีต้นแบบมาจากตะเกียงโรมันโดยตรง หรืออาจรับรูปแบบจากตะเกียงดินเผาที่ผลิตขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งมีต้นแบบมาจากตะเกียงโรมันอีกทอดหนึ่งก็เป็นได้
ตะเกียงดินเผารูปแบบที่มีลำตัวเป็นถ้วยทรงกลมและมีพวยลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ นอกจากที่เมืองโบราณอู่ทองแล้วยังพบที่เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณจันเสนและเมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น เนื่องจากในดินแดนไทย ตะเกียงรูปแบบนี้พบจำนวนไม่มาก จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นของใช้ในหมู่ชนชั้นสูงหรือใช้ในพิธีกรรม เพราะให้แสงสว่างยาวนานกว่าตะคันดินเผาซึ่งพบทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี แม้ตะเกียงดินเผาใบนี้จะอยู่ในสภาพชำรุด แตกหัก ไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนของผู้คนท้องถิ่นบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง กับชาวต่างชาติในดินแดนห่างไกลเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๖๑.
ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 884 ครั้ง)