เหรียญตราพระอาทิตย์-ศรีวัตสะ
เหรียญตราพระอาทิตย์-ศรีวัตสะ
พบบริเวณบ้านเนินพลับพลา เมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
เหรียญเงินกลมแบน มีรอยตัดแบ่งตรงกึ่งกลางเหรียญ เป็นร่องทะลุจากขอบเข้ามาด้านในเหรียญประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วน เหรียญนี้กำหนดอายุสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว เหรียญตกแต่งสัญลักษณ์มงคลทั้ง ๒ ด้าน มีรายละเอียด ดังนี้
ด้านที่ ๑ เป็นรูปพระอาทิตย์ฉายแสง โดยมีพระอาทิตย์ครึ่งดวงอยู่ตรงกึ่งกลาง มีแฉกเป็นเส้นหนาส่วนปลายเรียวแหลมกระจายออกโดยรอบจำนวน ๑๒ แฉก ระหว่างแฉกมีจุดกลม มีเส้นวงกลมล้อมรอบ ขอบด้านนอกตกแต่งด้วยลายจุดกลมโดยรอบ
ด้านที่ ๒ เป็นรูปศรีวัตสะ ภัทรบิฐหรือฑมรุ และสวัสดิกะ โดยมีศรีวัตสะอยู่ตรงกึ่งกลาง ลักษณะเป็นโครงลายเส้น เส้นฐานล่างเป็นเส้นโค้ง เส้นด้านข้างทั้งสองด้านเชื่อมกับเส้นฐานล่าง ส่วนปลายด้านบนตวัดโค้งงอเข้าหากัน ด้านในมีลวดลายลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน และมีลายจุดกลม ด้านข้างศรีวัตสะมีภาพภัทรบิฐ (บัลลังก์) หรือฑมรุ (กลองสองหน้า) มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ๒ รูปประกอบกันคล้ายนาฬิกาทราย ด้านบนมีจุดกลม ๓ จุด อีกด้านของศรีวัตสะมีภาพสวัสดิกะ มีลักษณะเป็นรูปกากบาทประกอบกับลายจุดกลม ๔ จุด ลวดลายเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์มงคลที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และความอุดมสมบูรณ์
สันนิษฐานว่าเหรียญเงินรูปแบบนี้ ใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรม เนื่องจากมีรอยตัดอย่างจงใจ และพบร่วมกับเหรียญเงินขนาดเล็ก แท่งผลึกควอตซ์ และเศษทองคำเปลวจำนวนหนึ่ง เหรียญเงินมีสัญลักษณ์มงคลที่มีรอยตัดนี้ ยังพบที่แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีแห่งอื่นด้วย เช่น เหรียญตราพระอาทิตย์-ศรีวัตสะ มีรอยตัด พบที่บ้านพรหมทิน อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และเหรียญตราสังข์-ศรีวัตสะ มีรอยตัด พบที่บ้านอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเหรียญเงินที่ถูกบิดงอหรือม้วนอย่างจงใจ ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้ในการประกอบพิธีกรรมเช่นกัน เช่น เหรียญตรารูปพระอาทิตย์-ศรีวัตสะ และเหรียญตราสังข์-ศรีวัตสะม้วนงอ พบร่วมกับเหรียญเงินมีจารึก “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณย” เหรียญเงินมีสัญลักษณ์มงคลและแท่งเงินตัด บรรจุภายในภาชนะดินเผา พบที่โบราณสถานคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.
วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์และสุภมาศ ดวงสกุล. “หลักฐานและความรู้ใหม่ทางโบราณคดีจากคอกช้างดินเมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ใน เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการสัมมนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดีเมืองสุพรรณบุรี “จากทวารวดีถึงสุพรรณภูมิ : หลักฐานและข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี”. สุพรรณบุรี : ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี, ๒๕๔๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1445 ครั้ง)