ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม จังหวัดกาญจนบุรี
ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม จังหวัดกาญจนบุรี
ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน ๔ ใบ พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เดิมจัดแสดงและเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยมเป็นแหล่งฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้และภาชนะดินเผาจำนวนมาก ภาชนะบางรูปแบบมีความคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี สันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกัน กำหนดอายุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่หรือสมัยสังคมเกษตรกรรม ประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ภาชนะดินเผาใบที่ ๑ ขนาดปากกว้าง ๘.๔ เซนติเมตร สูง ๑๒ เซนติเมตร มีปากกลม ขอบปากผายออกเล็กน้อย ลำตัวโค้ง ลำตัวส่วนล่างมีสันแหลม ฐานทรงกรวยสูง
ภาชนะดินเผาใบที่ ๒ ขนาดปากกว้าง ๙.๒ เซนติเมตร สูง ๑๒.๕ เซนติเมตร มีปากกลม ขอบปากผายออกเล็กน้อย คอทรงกระบอกสูง ตรงรอยต่อระหว่างคอกับไหล่มีขอบยกขึ้นมาเล็กน้อย ลำตัวกลมป่องกลาง ก้นกลมมีลายเชือกทาบ
ภาชนะดินเผาใบที่ ๓ ขนาดปากกว้าง ๑๐ เซนติเมตร สูง ๙.๖ เซนติเมตร มีปากกลมกว้าง ขอบปากผายออก ไหล่ลาด ลำตัวป่องกลางส่วนล่างเรียว ก้นตัด
ภาชนะดินเผาใบที่ ๔ ขนาดปากกว้าง ๑๒.๕ เซนติเมตร สูง ๑๐.๒ เซนติเมตร มีปากกลมกว้าง ขอบปากหนาผายออก ลำตัวตั้งตรงส่วนก้นสอบเข้า ฐานสูง
ภาชนะดินเผาเหล่านี้เป็นตัวอย่างรูปแบบภาชนะขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่พบจากแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า แสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเทือกเขาและกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
กรมศิลปากรได้รวบรวมและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเก็บรักษาและจัดแสดง ณ แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ทำให้ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเก่าที่ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้นยังมีการขุดค้นและดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง สามารถเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่โรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และกรมศิลปากรยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่า ขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย ของนักวิชาการด้านโบราณคดี ทำให้ความรู้ทางวิชาการโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านงานโบราณคดี กับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิชาการ
เอกสารอ้างอิง
สุด แสงวิเชียรและวัฒนา สุภวัน. เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม กาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๑.
สุภมาศ ดวงสกุลและคณะ. ฐานข้อมูลโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเก่า. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุเนตร์ฟิล์ม, ๒๕๕๒.
Per Sørensen. Archaeological excavations in Thailand: volume II Ban-Kao neolithic settlements with cemeteries in the Kanchanaburi province. Part one : the archaeological material from the burials. Copenhagen : Munksgaard, 1967.
(จำนวนผู้เข้าชม 5838 ครั้ง)