ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน ๔ ใบ พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะสำรวจไทย – เดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๐๕ เดิมจัดแสดงและเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
ภาชนะดินเผาเหล่านี้พบภายในหลุมฝังศพร่วมกับโครงกระดูกโดยวางไว้ในตำแหน่งต่างกัน ร่วมกับสิ่งของอื่น ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ สันนิษฐานว่าเป็นของอุทิศให้แก่ผู้ตายในพิธีกรรมการฝังศพ กำหนดอายุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่หรือสมัยสังคมเกษตรกรรม ประมาณ ๓,๓๐๐ – ๓,๘๐๐ ปีมาแล้ว
ภาชนะดินเผาใบที่ ๑ พบที่หลุมฝังศพหมายเลข ๑๐ ร่วมกับภาชนะดินเผาอื่นๆ บริเวณเหนือศีรษะของโครงกระดูก ขนาดปากกว้าง ๑๑.๓ เซนติเมตร สูง ๑๘ เซนติเมตร มีปากกลม ขอบปากบานออก คอทรงกระบอกสั้น ตรงรอยต่อระหว่างคอกับไหล่มีขอบยกขึ้นมาเล็กน้อย ลำตัวส่วนบนป่องส่วนล่างโค้ง ลำตัวส่วนล่างและก้นมีลายเชือกทาบ ผิวสีดำ
ภาชนะดินเผาใบที่ ๒ พบที่หลุมฝังศพหมายเลข ๔๔ ขนาดปากกว้าง ๒๒.๕ เซนติเมตร สูง ๒๑ เซนติเมตร มีรูปทรงคล้ายนาฬิกาทราย ปากกลมกว้างบานออก ขอบปากหนา ตัวภาชนะเป็นทรงกรวย มีฐานเป็นรูปทรงกรวยเช่นเดียวกับลำตัว มีรอยต่อระหว่างตัวกับฐาน ส่วนฐานตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง ๒ เส้นขนานกัน และตกแต่งพื้นที่ระหว่างเส้นโค้งด้วยลายกดประทับ
ภาชนะดินเผาใบที่ ๓ พบที่หลุมฝังศพหมายเลข ๓๕ บริเวณเท้าของโครงกระดูก ขนาดปากกว้าง ๒๙ เซนติเมตร สูง ๒๖.๕เซนติเมตร มีปากกลมกว้าง ขอบปากหนางุ้มเข้า ลำตัวทรงกรวย มีก้านทรงกระบอกเชื่อมต่อระหว่างส่วนลำตัวกับฐาน ส่วนฐานเป็นทรงกรวยเหมือลำตัว ผิวภาชนะสีน้ำตาลแดง
ภาชนะดินเผาใบที่ ๔ พบที่หลุมฝังศพหมายเลข ๑๕ บริเวณเท้าของโครงกระดูก ขนาดปากกว้าง ๑๙.๓ เซนติเมตร สูง ๑๕ เซนติเมตร มีปากกลมกว้าง ขอบปากผายออก คอสั้นทรงกระบอก ก้นกลม คอและส่วนบนของลำตัวตกแต่งด้วยลายเส้นไขว้กันไปมา
ภาชนะเหล่านี้เป็นตัวอย่างรูปแบบภาชนะจำนวนหนึ่งที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ภายในแหล่งเดียวกันนี้ยังพบภาชนะดินเผารูปแบบอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยมีภาชนะรูปแบบเด่นคือ ภาชนะดินเผาสามขา ภาชนะมีคอและเชิงสูง และภาชนะทรงชามหรือถาดก้นลึก แสดงถึงความก้าวหน้าในการผลิตภาชนะดินเผาของผู้คนในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
กรมศิลปากรได้รวบรวมและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่า ซึ่งเก็บรักษาและจัดแสดง ณ แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ทำให้ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเก่าที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้นยังมีการขุดค้นและดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง สามารถเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่โรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และกรมศิลปากรยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย ของนักวิชาการด้านโบราณคดี ทำให้ความรู้ทางวิชาการโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านงานโบราณคดี กับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิชาการ
เอกสารอ้างอิง
สุด แสงวิเชียรและวัฒนา สุภวัน. เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม กาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๑.
สุภมาศ ดวงสกุลและคณะ. ฐานข้อมูลโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเก่า. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุเนตร์ฟิล์ม, ๒๕๕๒.
Per Sørensen. Archaeological excavations in Thailand: volume II Ban-Kao neolithic settlements with cemeteries in the Kanchanaburi province. Part one : the archaeological material from the burials. Copenhagen : Munksgaard, 1967.
(จำนวนผู้เข้าชม 4130 ครั้ง)