พระพิมพ์ปางสมาธิ ศิลปะศรีวิชัย
พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๕ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
พระพิมพ์ปางสมาธิ ศิลปะศรีวิชัย พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๕ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพิมพ์ดินดิบรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร สูง ๕.๑ เซนติเมตร แสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกหรือขมวดพระเกศาใหญ่ พระอุษณีษะหรือพระเกตุมาลานูน เบื้องหลังพระเศียรปรากฏประภามณฑลหรือรัศมีโดยรอบ พระวรกายอวบอิ่ม พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็กคอด ครองจีวรห่มเฉียง ไม่ปรากฏชายจีวรบนพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลาในปางสมาธิ ประทับบนบัลลังก์ที่มีพนักพิง ด้านขวาของพระพุทธองค์มีสถูปขนาดเล็ก ส่วนล่างของพระพิมพ์ ใต้ฐานบัว มีจารึก ๑ บรรทัด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ - ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
รูปแบบพระพิมพ์ชิ้นนี้สัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางในประเทศอินโดนีเซียและศิลปะอินเดียแบบปาละ คงสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเป็นหลักฐานที่น่าจะแสดงถึงอิทธิพลศิลปะศรีวิชัยที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย เนื่องจากพระพิมพ์มีขนาดเล็ก ประกอบกับการดำเนินงานทางโบราณคดีในเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากพระพิมพ์นี้แล้ว ยังไม่เคยพบพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้ อาจเป็นไปได้ว่า พระพิมพ์องค์นี้เป็นการนำติดตัวเข้ามาของคนจากดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เข้ามายังเมืองโบราณอู่ทอง ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนชาวพุทธนิกายมหายานจากรัฐศรีวิชัย ก็เป็นได้
อนึ่ง หลักฐานทางศิลปกรรมศิลปะศรีวิชัย และแสดงถึงความเชื่อในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง นอกเหนือจากพระพิมพ์องค์นี้ ได้แก่ ประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และแสดงถึงการผสมผสานระหว่างการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาร และมหายาน ในเมืองโบราณอู่ทอง สมัยทวารวดี
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, โบราณคดีเมืองอู่ทอง, นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 2734 ครั้ง)