โบราณสถานบนเขาดีสลัก (วัดเขาดีสลัก)
โบราณสถานบนเขาดีสลัก (วัดเขาดีสลัก) ตั้งอยู่ในตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๑ กิโลเมตร บนเขาดีสลักเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญ ดังนี้
๑. เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนยอดเขา ปัจจุบันพังทลายเหลือแต่ส่วนฐานซึ่งได้รับการบูรณะแล้ว รูปแบบของเจดีย์องค์นี้ เป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐสอปูน ตั้งอยู่บนลานหินในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลานหินนี้ก่อด้วยหินปูนธรรมชาติเพื่อปรับพื้นที่ก่อนการสร้างเจดีย์ มีบันไดขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออก และบันไดขนาดเล็กทางด้านทิศตะวันตก การปรับพื้นที่ด้วยหินธรรมชาติพบอยู่ทั่วไปสำหรับการสร้างศาสนสถานบนภูเขา ในพื้นที่ใกล้เคียงพบการก่อหินปูนปรับพื้นที่ในลักษณะเดียวกันนี้ ได้แก่ เจดีย์บนเขาทำเทียมใกล้เมืองโบราณอู่ทอง และโบราณสถานบนยอดเขาวงศ์ วัดเขาวงศ์ ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
การกำหนดอายุเจดีย์องค์นี้จากรูปแบบของส่วนฐาน ซึ่งประกอบด้วย ฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ในผังสี่เหลี่ยมรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังกลม อันเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าส่วนที่หักหายไปน่าจะประกอบด้วย มาลัยเถา องค์ระฆัง บัลลังก์ ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลียอด ตามลำดับ รูปแบบดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์บนเขาทำเทียม จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ (ประมาณ ๔๐๐ – ๕๐๐ ปีมาแล้ว)
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานทางโบราณคดีพบว่า เจดีย์องค์นี้ก่อด้วยอิฐสมัยอยุธยาแทรกด้วยอิฐสมัยทวารวดีเล็กน้อย จึงอาจเป็นไปได้ว่า เดิมเคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์สมัยทวารวดีที่ถูกซ่อมแซมในสมัยอยุธยาจนไม่เหลือรูปแบบดั้งเดิม หรืออาจเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาที่นำอิฐสมัยทวารวดีจากพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้ในการก่อสร้างก็เป็นได้
๒. รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบริเวณไหล่เขา สลักจากหินทรายเป็นประติมากรรมแบบนูนต่ำ ไม่ใช่รอยพระพุทธบาทที่สลักเป็นหลุมลึกลงไปแบบรอยเท้ากดประทับ ดังนั้น รอยพระพุทธบาทนี้จึงไม่มีเรื่องราวหรือตำนานว่าด้วยการเสด็จมาประทับของพระพุทธเจ้า แต่เป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์รูปแบบหนึ่ง
สำหรับลวดลายที่ปรากฏบนรอยพระพุทธบาท ได้แก่ ลายมงคล ๑๐๘ ประการ ในกรอบวงกลมเต็มฝ่าพระบาท นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นรอยพระพุทธบาทศิลปะทวารวดีตอนปลาย ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรโบราณ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
ทั้งนี้ จากรูปแบบการสลักลายในกรอบวงกลมเต็มฝ่าพระบาท ชวนให้นึกถึงการจัดวางลายในกรอบตารางของรอยพระพุทธบาทในศิลปะสุโขทัย - อยุธยา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระบบการจัดวางลายมงคล รูปแบบของลายในกรอบวงกลม และลายกระหนกที่นิ้วพระบาท เป็นรูปแบบของรอยพระพุทธบาทในศิลปะอยุธยา ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์บนยอดเขาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ก็เป็นได้
หลักฐานทางศิลปกรรมที่หลงเหลืออยู่บนเขาดีสลัก แสดงให้เห็นว่า ภูเขาแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีการสร้างเจดีย์บนยอดเขา รอยพระพุทธบาท และยังพบพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาอีกจำนวนหนึ่ง อนึ่ง การสร้างเจดีย์บนยอดเขา นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหมุดหมาย (Land Mark) ของการเดินทางระหว่างบ้านเมืองหรือชุมชนแล้ว ยังเป็นหมุดหมายที่แสดงความเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากภูเขาแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทด้วย
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. "วัดเขาดีสลัก", ฐานข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔
กรมศิลปากร. โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๒๙.
นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเซียใต้และเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๐.
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๑๕๔๒.
ดาวน์โหลดไฟล์: โบราณสถานบนเขาดีสลัก (วัดเขาดีสลัก).pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 2487 ครั้ง)