เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เจดีย์หมายเลข ๑ หรือวัดปราสาท (ร้าง) ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณอู่ทอง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้กับวัดท่าพระยาจักร (วัดช่องลม) เดิมมีลักษณะเป็นโคกเนินขนาดใหญ่ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๐๙ และได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว
หลักฐานจากการดำเนินงานทางโบราณคดี พบว่า เจดีย์หมายเลข ๑ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยทวารวดี โดยมีการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยต่อมา อย่างน้อยอีก ๒ ครั้ง ได้แก่ การซ่อมแซมในสมัยทวารวดี และการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์หมายเลข ๑ ยังพบซากเจดีย์บริวารขนาดเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาอีกองค์หนึ่งด้วย
รูปแบบของเจดีย์หมายเลข ๑ เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน ปัจจุบันพังทลายเหลือแต่ส่วนฐาน โดยรูปแบบของฐานรองรับองค์เจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี มักจะประกอบด้วยฐานยกเก็จขนาดใหญ่รองรับเรือนธาตุ เช่นเดียวกับเจดีย์จุลประโทน และเจดีย์วัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ฐานส่วนนี้ของเจดีย์หมายเลข ๑ เป็นฐานในสมัยแรกสร้าง ซึ่งในการซ่อมในระยะเวลาต่อมา ได้มีการก่อฐานบัว เจาะช่องท้องไม้ปิดทับฐานเดิม ส่วนเรือนธาตุแม้จะพังทลายมาก แต่ก็ยังสังเกตได้ว่ามีการสร้างเสาติดผนัง
อนึ่ง เมื่อครั้งซ่อมแซมเจดีย์หมายเลข ๑ ในสมัยทวารวดี ยังได้มีการก่อฐานเป็นลานขนาดใหญ่ในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มขึ้นมาด้วย โดยฐานนี้เป็นฐานบัววลัย ที่ประกอบด้วยลวดบัวลูกแก้วขนาดใหญ่ เจาะช่องท้องไม้ ตามแบบที่นิยมในศิลปะทวารวดี การก่อฐานเพิ่มเติมจากการก่อสร้างในครั้งแรกพบในเจดีย์สมัยทวารวดีหลายองค์ และในเมืองโบราณอู่ทองก็ยังพบตัวอย่างที่เจดีย์หมายเลข ๒ อีกด้วย
ต่อมาในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าเจดีย์หมายเลข ๑ คงพังทลาย มีสภาพหักพังเป็นโคกเนิน ไม่เห็นรูปแบบของเจดีย์เดิมที่สร้างและซ่อมแซมในสมัยทวารวดี ทำให้ช่างสมัยอยุธยาก่อสร้างเจดีย์ทับด้านบน โดยไม่สัมพันธ์กับแผนผังของเจดีย์เดิม ลักษณะเช่นนี้มีตัวอย่างเช่น เจดีย์วัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม รูปแบบของเจดีย์สมัยอยุธยา ปัจจุบันพังทลายเหลือแต่ร่องรอยของฐานในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานไพทีรองรับเจดีย์ทรงปรางค์ เช่นเดียวกับเจดีย์วัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
การสร้างเจดีย์สมัยอยุธยาซ้อนทับบนซากเจดีย์สมัยทวารวดี นอกจากจะช่วยเสริมรากฐานในการก่อสร้างและเพิ่มความสูงของเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจดีย์องค์เดิมที่มีผลต่อความศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในสมัยอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานการก่อสร้างลักษณะเดียวกันนี้ ในเขตพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง เช่น โบราณสถานบนเขาพระ และเขาทำเทียม เป็นต้น
บรรณนุกรม
กรมศิลปากร. โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๒๙.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน เมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๐๙.
เชษฐ์ สิงสัญชลี. ศิลปะไทยภายใต้แรงบัลดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๐.
สันติ เล็กสุขุม, โครงการ ออกแบบหุ่นจำลองสันนิษฐานจากซากเจดีย์ที่อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี (เพื่องานจัดทำหุ่นจำลองสันนิษฐาน ติดตั้งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง), (เอกสารอัดสำเนา).
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๒.
ดาวน์โหลดไฟล์: เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 2559 ครั้ง)