พระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรม พบจากโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓)
พระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรม พบจากโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ อาคารจัดแสดง ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปนั่ง หน้าตักกว้าง ๑๕ เซนติเมตร สูง ๒๒ เซนติเมตร พระรัศมีเป็นลูกแก้ว อุษณีษะเป็นปุ่มนูน เม็ดพระศกกลมใหญ่ พระกรรณยาว พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระโอษฐ์ล่างหนา ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา จีวรบางแนบพระวรกาย เห็นขอบสบงเป็นเส้นนูนบริเวณบั้นพระองค์ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระกรขวายกขึ้นเสมอบั้นพระองค์ พระหัตถ์ขวาหักหายไป สันนิษฐานว่าแสดงวิตรรกมุทราหรือปางแสดงธรรม นั่งขัดสมาธิราบ โดยพระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย เห็นฝ่าพระบาทขวา
พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบศิลปกรรมที่แสดงถึงความเป็นพื้นเมืองทวารวดีอย่างแท้จริง ได้แก่ การแสดงวิตรรกมุทรา ซึ่งนิยมมากในสมัยทวารวดีพบทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง และลักษณะพระพักตร์ที่มีพระขนงโก่งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปน แย้มพระโอษฐ์ พระโอษฐ์ล่างหนา ทั้งนี้ยังปรากฏพระรัศมีเป็นลูกแก้ว แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบปาละ จึงกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
อนึ่ง นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ยังพบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ซึ่งแสดงวิตรรกมุทราด้วยพระหัตถ์ขวา เช่น พระพุทธรูปสำริดนั่งขัดสมาธิ พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสลักจากหินสีขาว พบจากวัดพระเมรุ เมืองนครปฐมโบราณ และพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทที่ถ้ำฤๅษีเขางู จังหวัดราชบุรี เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการ พิมพ์, ๒๕๕๙.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 629 ครั้ง)