“นาค” ปูนปั้น ประดับศาสนสถานในเมืองโบราณอู่ทอง
นาค เป็นสัตว์ในจินตนาการที่ได้รับแนวคิดมาจากสัตว์ที่มีอยู่จริงประเภทงูใหญ่ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับการยกย่องบูชาแบบเทพเจ้ามาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ โดยเชื่อว่างูใหญ่หรือนาค เป็นสัญลักษณ์ของ สวรรค์ ท้องฟ้า และเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องน้ำและฝน สำหรับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นาค มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าองค์สำคัญ ได้แก่ พระวิษณุ โดยนาคปรากฏร่วมกับพระวิษณุอนันตศายิน และพระศิวะกับงูเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ร่วมกันเสมอ ตามคติความเชื่อในศาสนาพุทธ พญานาคมุจลินท์ใช้กายกำบังให้พระพุทธเจ้าเมื่อเกิดพายุฝนเป็นเวลาเจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ภายหลังทรงตรัสรู้ จึงเชื่อว่านาคเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์ดูแลพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องนาคที่ปรากฏในดินแดนไทย เป็นทั้งความเชื่อที่มีมาแต่เดิมและผสมผสานกับการรับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย
หลักฐานศิลปกรรม ประติมากรรมรูปนาคซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุด ที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น มิได้เป็นการนำเข้ามาจากภายนอก เนื่องจากเป็นประติมากรรมปูนปั้นซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับติดเข้ากับผนังของศาสนสถาน ได้แก่ ชิ้นส่วนปูนปั้นรูปขนดนาคที่ฐานพระพุทธรูป ศิลปะทวารวดี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประติมากรรมรูปนาคที่พบในสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยได้รับแบบอย่างมาจากศิลปะอินเดีย แบบอมราวดี คุปตะ และหลังคุปตะ เข้ามาผสมผสาน มักสร้างขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน ร่วมกับประติมากรรมรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ รูปบุคคล คนแคระ ลายพันธุ์พฤกษา และสัตว์แบกอยู่บริเวณส่วนฐานของเจดีย์ ทั้งนี้มีผู้ศึกษาเรื่องส่วนผสมของปูนปั้นสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่า ได้แก่ ปูนขาวกับน้ำอ้อยผสมกับทรายและเนื้อเยื่อจากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งผสมยางไม้ ซึ่งทำให้การยึดเกาะกันของส่วนผสมต่าง ๆ ทนทานยิ่งขึ้น
ในเมืองโบราณอู่ทอง พบหลักฐานประติมากรรมรูปนาคปูนปั้นที่เจดีย์หมายเลข ๓ และหมายเลข ๒๘ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อประดับส่วนฐาน หรือประดับองค์ประกอบอื่นๆ ของสถาปัตยกรรม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานประติมากรรมรูปนาคที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ส่วนใหญ่ทำจากปูนปั้น และมักเกี่ยวข้องกับการตกแต่งศาสนสถานในศาสนาพุทธ ซึ่งประติมากรรมดังกล่าว น่าจะมีความหมายถึงความเป็นสิริมงคลและเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพุทธสถานแห่งนั้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
วรรณา อัมพวัน. “เทคนิคเชิงช่างงานประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาที่ใช้ในการประดับศาสนสถานสมัยทวารวดี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓.
สุพิชฌาย์ จินดาวัฒนภูมิ. “นาค” ในงานประติมากรรมสมัยทวารวดี. เอกสารประกอบงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๑๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ๑๑ – ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒.
อนุสรณ์ คุณประกิจ. “การศึกษาคติและรูปแบบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดีที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2063 ครั้ง)