...

แผ่นอิฐปิดทองคำเปลว : อิฐฤกษ์สมัยทวารวดี

     แผ่นอิฐปิดทองคำเปลว จำนวน ๒ แผ่น จัดแสดง ณ อาคารจัดแสดง ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     อิฐแผ่นที่ ๑ กว้าง ๑๖ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๖.๕ เซนติเมตร อิฐมีเนื้อละเอียด มีการขัดผิวบริเวณด้านหน้าและด้านข้างทำให้ผิวเรียบ ด้านหลังมีผิวหยาบปรากฏร่องรอยแกลบข้าวในเนื้ออิฐ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐในสมัยทวารวดี ด้านหน้าของแผ่นอิฐปิดทองคำเปลวเป็นแถบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบางส่วนชำรุดหลุดร่อนออกเห็นคราบสีขาว สันนิษฐานว่าเป็นกาวหรือยางไม้ ที่ใช้ปิดทองคำเปลวเข้ากับแผ่นอิฐ ร่องรอยลักษณะนี้ยังปรากฏบนส่วนขอบผิวด้านหน้าและด้านข้างของแผ่นอิฐด้วย

     อิฐแผ่นที่ ๒ กว้าง ๑๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๓๒.๕ เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร  อิฐมีเนื้อละเอียด ผิวด้านหน้าและด้านข้างเรียบจากการขัดผิว ด้านหลังไม่มีการขัดผิวทำให้เห็นร่องรอยแกลบข้าวในเนื้ออิฐ ด้านหน้ามีร่องรอยการตีตารางสี่เหลี่ยมจำนวน ๔ แถว ๆ ละ ๑๐ ช่อง ทำให้เกิดช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน ๔๐ ช่อง บางช่องมีร่องรอยคราบสีขาวที่อาจเป็นกาวหรือยางไม้ และบางช่องมีการปิดทองคำเปลวเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจมีทองคำเปลวปิดไว้ทุกช่องก็เป็นได้

อิฐทั้งสองแผ่นนี้ผลิตขึ้นด้วยฝีมือประณีตแตกต่างจากอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป ทั้งยังมีการปิดแผ่นทองคำเปลว ซึ่งถือเป็นวัสดุมีค่า จึงสันนิษฐานว่าอิฐทั้งสองแผ่นนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อเป็น “อิฐฤกษ์” ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเมื่อเริ่มก่อสร้างศาสนสถาน เพื่อให้พื้นที่เกิดความเป็นสิริมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ โดยคติการวางฤกษ์ปรากฏมาแล้วในอินเดีย และส่งอิทธิพลให้ชาวพื้นเมืองทวารวดี กำหนดอายุแผ่นอิฐทั้งสองในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว 

     ปรากฏหลักฐานการวางอิฐฤกษ์ที่โบราณสถานในเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง โดยอิฐฤกษ์ที่พบมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ การผลิตด้วยฝีมือประณีต และมีการตกแต่งผิวหน้าอิฐ ได้แก่ อิฐฤกษ์เขียนสีเป็นรูปลายก้านขดและลายเรขาคณิตพบจากเจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อิฐฤกษ์จำหลักลายพรรณพฤกษา ลายก้านขดและลายเรขาคณิตพบจากเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม อิฐฤกษ์ปิดทองคำเปลวพบจากโบราณสถานที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และ อิฐฤกษ์ปิดทองคำเปลวพบจากโบราณสถานที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

วิภาดา  อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 793 ครั้ง)


Messenger