ตราประทับดินเผารูปครุฑ
ตราประทับดินเผารูปครุฑ
พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราประทับดินเผารูปครุฑ ขนาดกว้างประมาณ ๕.๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖.๒ เซนติเมตร รูปครุฑแสดงในรูปแบบของบุรุษครึ่งนก มีลักษณะคล้ายคนแคระ ยืนในท่าหันหน้าตรง มีขาเป็นนก ปีกกางออก ผมเกล้าเป็นมวย มีเครื่องประดับศีรษะ ใบหน้าค่อนข้างกลม ตากลมนูน คิ้วต่อเป็นปีกกา จมูกใหญ่และโด่ง ปากค่อนข้างหนา สวมเครื่องประดับที่ลำคอ และสวมตุ้มหูขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับที่พบในกลุ่มประติมากรรมสมัยทวารวดี ยืนอยู่บนฐานบัว ลักษณะของรูปครุฑสามารถเทียบเคียงกับประติมากรรมรูปครุฑดินเผาประดับศาสนสถาน พบจากเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
ครุฑเป็นสัตว์ในจินตนาการ ตำนานอุปาติกะ กล่าวว่า ครุฑเป็นรูปครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ ถือว่าเป็นกึ่งเทวดา ลักษณะส่วนศีรษะ ปีก เล็บ และปาก เหมือนนกใหญ่อย่างอินทรีย์ ตัวและแขนขาเป็นคน หน้าขาว ปีกแดง มีกายสีทอง ถือเป็นเจ้าแห่งนกทั้งปวง
ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ครุฑเป็นพาหนะของพระวิษณุ ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับสมมติเทพมักเกี่ยวข้องกับพระวิษณุที่เป็นวรรณะกษัตริย์ ดังนั้นครุฑจึงเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ด้วย ส่วนคติความเชื่อในพุทธศาสนา เรื่องราวของครุฑมีแทรกอยู่ในชาดกเรื่องต่าง ๆ โดยครุฑอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นพญานกที่ยิ่งใหญ่ในหมู่นกทั้งปวง ครุฑยังปรากฏในพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายตอน เช่น เหตุการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ครุฑพร้อมด้วยเทวดาและนาค ต่างก็พากันมาบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และธูปอันเป็นทิพย์ ตอนตรัสรู้ ครุฑเป็นผู้ประกาศก้องถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า
รูปครุฑปรากฏในงานศิลปกรรมมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ เช่นรูปครุฑที่ประดับอยู่บนโตรณะด้านทิศตะวันออกของสถูปสาญจี และปรากฏบนตราดินเผาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ เป็นรูปของพระเจ้ากุมารคุปตะ (Kumaragupta) ที่ทำเป็นรูปครุฑแต่มีใบหน้าเป็นมนุษย์ และตราดินเผารูปคชลักษมีซึ่งมีรูปครุฑประกอบอยู่ด้วย สำหรับรูปครุฑในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี พบทั้งงานศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์ เช่น เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และในศาสนาพุทธ เช่น เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น รูปแบบของครุฑมีทั้งแบบที่มีลักษณะเหมือนนก คือ มีปาก ปีก และขา เหมือนนก และครุฑที่เป็นรูปบุคคลมีปีก
ตราประทับดินเผารูปครุฑชิ้นนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลหรือกลุ่มคน อาจเป็นบุคคลชั้นสูงหรืออาจเกี่ยวข้องกับศาสนา แสดงถึงการรับอิทธิพลทั้งด้านรูปแบบศิลปกรรมและความเชื่อมาจากอินเดีย เข้ามาผสมผาสนกับวัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง ในช่วงเวลาดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
ดวงกมล อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗. ดูน้อยลง
(จำนวนผู้เข้าชม 1507 ครั้ง)