...

ตราดินเผารูปเรือ

     ตราดินเผารูปเรือ 

     จากเมืองโบราณอู่ทอง

     ตราดินเผารูปเรือ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     ตราดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีรอยประทับเป็นเส้นโค้งและเส้นตรงตัดไขว้กัน สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์รูปเรือ โดยเส้นโค้ง ๒ เส้นด้านล่างเป็นกราบเรือและท้องเรือ เส้นตรงที่กึ่งกลางเป็นเสากระโดง ๑ ต้น เส้นทแยงอาจเป็นเชือกผูกเสากระโดง หรือใบเรือ ด้านหลังของตราดินเผามีที่จับทรงกรวยซึ่งชำรุดส่วนปลายหักหายไป

     ตราดินเผานี้ เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงรูปแบบของเรือ และการเดินเรือเข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนของชาวต่างชาติจากดินแดนห่างไกล ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี นอกจากตราดินเผาชิ้นนี้แล้ว ยังพบหลักฐานงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้องกับเรือและการเดินเรือ ได้แก่ 

     ๑. ตราดินเผารูปเรือ พบจากเมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม แสดงภาพเรือแบบมีเสากระโดง ๑ ต้น เชือกผูกเสากระโดง ๒ เส้น บนยอดเสากระโดงมีธง ใบเรือรูปโค้งตรงหัวเรือ ๑ ใบ และมีคนดึงเชือกที่หัวเรือและถือหางเสือที่ท้ายเรือ ลายคลื่นที่ใต้ท้องเรือ แสดงถึงการที่เรือกำลังเดินทางในทะเล 

     ๒. ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก พบจากเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม แสดงภาพบุคคลนั่งภายในเรือที่มีเสากระโดงอยู่ตรงกลาง อาจเป็นเรื่องสุปปารกชาดกหรือสมุททวาณิชชาดก ซึ่งชาดกทั้ง ๒ เรื่อง มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางโดยเรือ 

     รูปแบบของเรือที่มีเสากระโดง ๑ ต้น ซึ่งปรากฏบนตราดินเผาจากเมืองโบราณอู่ทอง ตราดินเผาจากเมืองนครปฐมโบราณและภาพปูนปั้นจากเจดีย์จุลประโทนนี้ น่าจะเป็นเรือรูปแบบหนึ่ง ที่พ่อค้าและนักเดินทางชาวต่างชาติใช้เป็นพาหนะเดินทางเข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนกับคนพื้นเมืองในสมัยทวารวดี

     ตราดินเผารูปเรือนี้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าอาจเป็นตราที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยใช้เรือที่พบเห็นเป็นต้นแบบและนำมาผลิตเป็นตราดินเผาในรูปอย่างง่าย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือการเดินเรือก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.

อนันต์  กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1798 ครั้ง)


Messenger