แผ่นอิฐจำหลักรูปมกร
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกร
จากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกร พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
แผ่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑๖ เซนติเมตร ยาว ๒๒ เซนติเมตร หนา ๗.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าจำหลักเป็นรูปใบหน้าของสัตว์ในมุมมองด้านข้าง เป็นรูปตา จมูกและปากของสัตว์กำลังแยกเขี้ยวยิงฟันเห็นเขี้ยวรูปสามเหลี่ยมและฟันรูปสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถบ สันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ผสมที่เรียกว่า “มกร” ด้านหลังแบนเรียบ มีร่องรอยแกลบข้าวในเนื้อดิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี
มกร เป็นสัตว์ผสมในจินตนาการระหว่างสัตว์บกกับสัตว์น้ำ มีลำตัวและปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง มีหางเหมือนปลา ถือเป็นสัตว์มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ คติเรื่องมกรปรากฏทั้งในพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อว่า มกร เป็นสัตว์ผู้พิทักษ์และเป็นพาหนะของเทพเจ้า ได้แก่ พระวรุณ พระคงคา เป็นต้น
ศิลปกรรมรูปมกร ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียโบราณ และได้รับการสืบทอดต่อมา โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามรสนิยมของแต่ละยุคสมัย ทั้งนี้ได้อิทธิพลให้กับศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า และไทย โดยพบรูปมกรทั้งในงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ในสมัยทวารวดี พบการใช้รูปมกรประดับส่วนปลายพนักพุทธบัลลังก์ของพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท จากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ประดับมุมส่วนฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม และตกแต่งกรอบซุ้มประดับสถาปัตยกรรมที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกรแผ่นนี้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนประกอบของรูปมกรที่ประดับเจดีย์ ซึ่งอาจใช้ประดับส่วนฐานในลักษณะเดียวกับมกรที่เจดีย์จุลประโทน หรืออาจเป็นใช้ประดับปลายกรอบซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปที่ติดอยู่บนผนังของเจดีย์ก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
ธงกิจ นานาพูลสิน. “คติความเชื่อและรูปแบบ “มกร” ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
วิภาดา อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 930 ครั้ง)