พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรม จำนวน ๒ ชิ้น
พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรม จำนวน ๒ ชิ้น พบจากเจดีย์หมายเลข ๒๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผา ชิ้นที่ ๑ กว้าง ๖.๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๗ เซนติเมตร ส่วนล่างชำรุดหักหายไป และชิ้นที่ ๒ กว้าง ๖ เซนติเมตร ยาว ๗ เซนติเมตร ส่วนบนชำรุดหักหายไป จากหลักฐานที่หลงเหลือ เมื่อนำมาศึกษาร่วมกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระพิมพ์ทั้ง ๒ ชิ้น น่าจะสร้างขึ้นจากแม่พิมพ์รูปแบบเดียวกัน เป็นภาพพระพุทธรูปประทับบนบัลลังก์ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวจรดพระอังสา มีประภามณฑลเป็นวงโค้งรอบพระเศียร พื้นที่ภายในประภามณฑลและขอบนอกประดับด้วยลวดลายเปลวไฟ เห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอังสา แสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา นั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวม ๆ โดยพระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย เห็นฝ่าพระบาทขวา บัลลังก์ที่มีฐานรูปสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาติดผนังแบ่งฐานออกเป็นช่อง มีพนักอยู่ด้านหลัง
ลักษณะการทำประภามณฑลซึ่งประดับด้วยลวดลายเปลวไฟ และบัลลังก์ที่มีฐานรูปสี่เหลี่ยมประดับเสาติดผนังซึ่งปรากฏบนพระพิมพ์นี้ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบปาละ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ หรือประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ทั้งนี้รูปแบบพระพักตร์ การแสดงวิตรรกะมุทรา ท่านั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆ เป็นรูปแบบที่นิยมและปรากฏในพระพุทธรูปรวมทั้งพระพิมพ์ศิลปะทวารวดี จึงกำหนดอายุพระพิมพ์รูปแบบนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
อนึ่ง พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิแสดงวิตรรกะมุทราด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาหรือยกขึ้นยึดชายจีวรเสมอบั้นพระองค์ เป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในพระพุทธรูปสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูปสำริด พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง จำนวน ๓ องค์ และยังพบพระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ที่เมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ ภาพพระพุทธรูปบนแผ่นเงินดุนนูน จากเมืองคันธารวิสัย จังหวัดมหาสารคาม และพระพุทธรูปในภาพสลักบนใบเสมาเล่าเรื่องพุทธประวัติจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. พระพุทธรูปอินเดีย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.
ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน: กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 924 ครั้ง)