...

๕๕ ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

          ๕๕ ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร :

          พระมหากรุณาธิคุณต่องานด้านพิพิธภัณฑสถาน

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญไปอย่างถูกทิศทาง ทรงตระหนักในคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง จำเป็นต้องคุ้มครอง ดูแล และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่อนุชนรุ่นต่อ ๆ ไป ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สังกัดกรมศิลปากร ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน ๗ แห่ง

          โอกาสที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ และกระแสพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการพิพิธภัณฑ์ และการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่สำคัญ เช่น

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ มีเหตุการณ์คนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุดังกล่าว ณ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ขณะทอดพระเนตรสิ่งของต่าง ๆ มีรับสั่งถามว่า   “จะไปเก็บไว้ที่ใด...”   พระราชดำรัสดังกล่าวก่อให้เกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่สมบูรณ์แบบขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรก ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ...”

เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่แสดงถึงพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยว่า

“...นี่ถ้ากรมศิลปากรไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ ฉันจะไปเปิดให้...”

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กรมศิลปากร ได้รับการจัดตั้งขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๒ เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดแต่งบูรณะ และขุดค้นพบภายในบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง และบริเวณใกล้เคียง

พุทธศักราช ๒๕๐๘ - ๒๕๐๙ กรมศิลปากรได้จัดสร้างอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานถาวร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๙ นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคแห่งที่ ๓ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด

           ด้วยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นอกจากเป็นสถานอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันทรงคุณค่ายิ่งของชาติ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนในชาติ ดังปรากฏในพระราชดำรัสเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตอนหนึ่งว่า

“พิพิธภัณฑสถาน นับเป็นสิ่งหนึ่ง ที่แสดงถึงความเจริญของบ้านเมือง และมีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดี ย่อมเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่ง แก่การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ การที่ทางราชการเร่งรัดดำเนินการด้านสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี และด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานเช่นนี้ จึงเป็นที่น่ายินดีโดยทั่วกัน”

เป็นเวลา ๕๕ ปีมาแล้ว นับตั้งแต่วันที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กรมศิลปากรได้น้อมนำพระราชดำริ และแนวทางจากพระราชดำรัสมาพัฒนางาน ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งกิจการพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์โบราณวัตถุ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม

 

 



(จำนวนผู้เข้าชม 719 ครั้ง)