...

ยอดเจดีย์จำลอง พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง

    ยอดเจดีย์จำลอง ทำด้วยสำริด จำนวน ๒ ชิ้น พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

    ยอดเจดีย์จำลอง ชิ้นที่ ๑ ประกอบด้วยปลียอดทรงกรวย ตกแต่งด้วยลวดบัวเป็นสันนูน ๒ เส้น ด้านล่างตกแต่งด้วยลวดบัวเป็นสันนูนซ้อนกัน ๒ ชั้น มีเดือยสำหรับเสียบต่อกับส่วนองค์ระฆัง ส่วนยอดสุดหักหายไป สันนิษฐานว่าหากเจดีย์จำลองชิ้นนี้มีสภาพสมบูรณ์ น่าจะมีส่วนฐานเป็นทรงกลม ฐานล่างผายออก มีเส้นคาดตรงส่วนกลาง รองรับองค์ระฆังและส่วนยอดทรงกรวยตามหลักฐานที่เหลืออยู่ ยอดบนสุดเป็นดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับเจดีย์สำริดที่พบจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ เจดีย์สำริดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และแผ่นดินเผารูปเจดีย์ จากเมืองจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เจดีย์สำริดจากเมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เจดีย์สำริดจากเมืองโบราณพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และเจดีย์สำริดไม่ทราบแหล่งที่พบ เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้แล้ว ยังพบหลักฐานสถาปัตยกรรมที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ที่มีองค์ระฆังทรงหม้อน้ำ เช่น ส่วนยอดเจดีย์ศิลาแลงและปูนปั้นที่จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดีและลานจัดแสดงกลางแจ้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

    ยอดเจดีย์จำลอง ชิ้นที่ ๒ ประกอบด้วยส่วนยอดทรงกรวย ตกแต่งด้วยลวดบัวเป็นปล้องซ้อนชั้น ส่วนกลางคอด รองรับใบฉัตรหนึ่งชั้น ส่วนบนสุดเป็นทรงโอคว่ำยอดบนสุดประดับด้วยเม็ดน้ำค้าง มีเดือยอยู่ด้านล่างสำหรับเสียบต่อกับส่วนองค์ระฆัง หากเจดีย์จำลององค์นี้มีสภาพสมบูรณ์ อาจมีรูปแบบเทียบเคียงได้กับเจดีย์ทรงหม้อน้ำมีส่วนยอดตกแต่งด้วยใบฉัตร ซึ่งพบได้ทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนสีรูปเจดีย์ทรงหม้อน้ำบนแผ่นอิฐ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง 

    ยอดเจดีย์จำลองสำริดทั้งสองชิ้นนี้ อาจใช้เป็นเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เช่นเดียวกับเจดีย์สำริดจากเมืองจำปาศรี และเจดีย์สำริดจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ภายในเมืองโบราณอู่ทอง สามารถกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)

 

เอกสารอ้างอิง

จีราวรรณ แสงเพ็ชร์. “ระบบการจัดและการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในประเทศไทย”. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.

พงษ์ศักดิ์ นิลวร. “รูปแบบสันนิษฐานเจดีย์ศิลปะทวารวดีในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย : วิเคราะห์จากหลักฐานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม”. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๙.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1219 ครั้ง)