...

ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมีประกอบกับรูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ประติมากรรมรูปแบบเฉพาะสมัยทวารวดี

    ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมีประกอบกับรูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง : ประติมากรรมรูปแบบเฉพาะสมัยทวารวดี    

    ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมีประกอบกับรูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

    ประติมากรรมดินเผา สูงประมาณ ๙.๘ เซนติเมตร มีภาพนูนสูง ๒ ด้าน รองรับด้วยฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัว 

    ด้านที่ ๑ เป็นประติมากรรมรูปราชยลักษมี ประกอบด้วยรูปพระลักษมี เศียรหักหายไป นั่งโอบลำตัวสิงห์ที่หมอบอยู่ด้านข้าง สิงห์มีแผงคอขีดเป็นร่อง ตาโปน จมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟันคล้ายประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ที่พบในเมืองโบราณอู่ทอง ด้านข้างเป็นรูปบุคคลนั่งคุกเข่าพนมมือ โดยหันหน้าไปทางรูปราชยลักษมี  สันนิษฐานว่าเป็นบริวารที่แสดงความเคารพบูชาต่อพระลักษมี 

    ด้านที่ ๒ เป็นรูปคชลักษมี กึ่งกลางเป็นรูปพระลักษมี เศียรหักหายไป พระหัตถ์ขวาทรงถือก้านดอกบัวตูมยกขึ้นในระดับพระอุระ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหักหายสันนิษฐานว่าทรงถือก้านดอกบัวตูมยกขึ้นในระดับพระอุระเช่นเดียวกัน นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว ด้านข้างทั้งสองชำรุดมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปช้างชูงวงถือหม้อน้ำเพื่อรดน้ำอภิเษกพระลักษมี 

    สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นฝาจุกภาชนะ หรือประดิษฐานเพื่อการเคารพบูชา หรือใช้เป็นเครื่องรางสำหรับติดตัวพ่อค้าหรือนักเดินทาง นอกจากประติมากรรมชิ้นนี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบประติมากรรมดินเผารูป  ราชยลักษมี และประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมีที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับประติมากรรมชิ้นนี้อีก ๒ ชิ้นด้วย กำหนดอายุประติมากรรมดังกล่าวอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)

    ราชยลักษมีและคชลักษมีเป็นรูปแบบหนึ่งของพระศรี – ลักษมี ซึ่งผู้นับถือเพื่อความมีโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ ปรากฏในศิลปะอินเดีย และส่งอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปกรรมและคติความเชื่อให้กับศิลปะทวารวดี สำหรับประติมากรรมชิ้นนี้ ช่างสมัยทวารวดีมีการปรับเปลี่ยนจนมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง ได้แก่ การนำรูปราชยลักษมีและคชลักษมีมาประกอบกัน ซึ่งไม่พบในศิลปะอินเดีย และยังไม่เคยพบจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ในประเทศไทย ประติมากรรมชิ้นนี้จึงเป็นรูปแบบพิเศษซึ่งพบเฉพาะในเมืองโบราณอู่ทอง และยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความนิยมในการนับถือพระลักษมีในฐานะเทวีแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ในดินแดนแถบนี้เป็นอย่างมากด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบใน ประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 1265 ครั้ง)


Messenger