...

แผ่นดินเผารูปพระภิกษุอุ้มบาตร หลักฐานการประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย



    แผ่นดินเผารูปพระสงฆ์สามองค์อุ้มบาตร พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อาจเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนไทย เนื่องจากรูปแบบการครองจีวรของภาพพระภิกษุบนแผ่นดินเผา เป็นแบบห่มคลุม ริ้วจีวรมีขนาดใหญ่ คล้ายกับการครองจีวรของพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ (ประมาณ ๑,๖๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว) สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น มิได้เป็นการนำเข้ามาจากภายนอก เนื่องจากทำด้วยดินเผาที่มีส่วนผสมของดินดิบ และแกลบค่อนข้างหยาบ  ประกอบกับประติมากรรมนี้มีแผ่นหลังซึ่งน่าจะใช้ประดับติดเข้ากับผนังของศาสนสถาน 

    อนึ่ง ภายในเมืองโบราณอู่ทองยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถานแสดงภาพระพุทธรูปประทับ นั่งขัดสมาธิอย่างหลวมๆ เหนือขนดนาค ซึ่งนักวิชาการบางท่านกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการค้นพบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น และมีรูปแบบศิลปกรรมร่วมสมัยกันกับแผ่นดินเผารูปพระภิกษุสามองค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปเหนือขนดนาคปูนปั้นที่กล่าวไป ทำให้นักวิชาการบางท่านมีความเห็นเรื่องอายุสมัยของโบราณวัตถุดังกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยหากเชื่อว่าโบราณวัตถุนี้ มีอายุสมัยใกล้เคียงกับศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ก็จะนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแถบนี้ได้เปลี่ยนจากความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม หันมานับถือพระพุทธศาสนา มีการสร้างรูปเคารพ รวมทั้งศาสนสถาน แสดงให้เห็นว่าระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑ พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลง ณ บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในหมู่ชนพื้นเมืองแล้ว โดยมีเมืองโบราณอู่ทองเป็นศูนย์กลางสำคัญของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในระยะแรกเริ่ม

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. 

ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๔๒.

พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 3008 ครั้ง)


Messenger