พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ
พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ
พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ศิลปะศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สูงประมาณ ๒๓.๕ เซนติเมตร เกล้าพระเกศาทรงสูงทรงชฎามงกุฎ มีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ซึ่งหมายถึง พระธยานิพุทธเจ้าอมิตาภะ ประทับอยู่ที่ด้านหน้ามวยผม พระหัตถ์ขวาทรงถืออักษมาลา (ลูกประคำ) พระหัตถ์ซ้ายทรงถือปัทม (ดอกบัว) และกลศ (หม้อน้ำ) มีสายยัชโญปวีตพาดที่พระอังสาซ้าย นุ่งผ้าโธตียาว ประทับยืนบนฐานทรงกลม จากรูปแบบศิลปกรรมแบบศรีวิชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) นอกจากนี้ ที่เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบส่วนเศียรพระโพธิสัตว์อีก ๒ ชิ้น และยังมีการพบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ในเมืองโบราณวัฒนธรรมทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นพระธยานิโพธิสัตว์องค์หนึ่งในพุทธศาสนานิกายมหายาน กำเนิดจากพระธยานิพุทธอมิตาภะ พระองค์ได้รับการนับถืออย่างกว้างขวาง เนื่องจากทรงเป็นผู้คุ้มครองพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน (ภัทรกัลป์) รูปเคารพของพระองค์มักแต่งองค์อย่างนักบวช กล่าวกันว่าทรงมีรูปแบบถึง ๑๐๘ และมีหลายพระนาม เช่น อวโลกิเตศวร ปัทมปาณิ โลเกศวร โลกนาถ มหากรุณา เป็นต้น เชื่อว่าอาภรณ์เครื่องประดับอันงดงามของพระองค์บ่งถึงสภาวะแห่งความงาม ความสุขอันอุดม พระมหากรุณาของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์อำนาจ นำผู้คนที่กราบไหว้บูชาพระองค์ไปสู่สวรรค์ หรือนิพพานพร้อมพระองค์
ถึงแม้ว่าพุทธศาสนานิกายเถรวาทจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวัฒนธรรมทวารวดี แต่การพบรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในเมืองโบราณอู่ทอง และมีรูปแบบศิลปกรรมแบบศรีวิชัย ที่เจริญรุ่งเรืองบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ แสดงถึงความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายานที่แพร่หลายเข้ามาในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนชาวพุทธนิกายมหายานจากรัฐศรีวิชัย อนึ่ง ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ดังกล่าวมีขนาดเล็ก จึงอาจเป็นการนำติดตัวของผู้ที่เดินทางมาจากดินแดนแถบคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เข้ามายังเมืองโบราณอู่ทองในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐.
นันทนา ชุติวงศ์. “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร – ที่สุดแห่งมหากรุณาบารมี”, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ วิชชาแห่งบูรพา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๔๒.
พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 3118 ครั้ง)