พระพุทธรูปยืนตริภังค์ปางแสดงธรรม
พระพุทธรูปยืนตริภังค์ปางแสดงธรรม
พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพุทธรูปยืนตริภังค์ปางแสดงธรรม พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม อุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปน เหลือบลงต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา อมยิ้มเล็กน้อย พระกรรณยาวเซาะเป็นร่อง พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรเรียบ จีวรบางแนบพระวรกาย เห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายหักหายไปสันนิษฐานว่าอาจยึดชายจีวรในระดับบั้นพระองค์ ยืนตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ทั้งนี้การยืนตริภังค์ของพระพุทธรูป แสดงถึงอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ แต่ลักษณะพระพักตร์เป็นแบบทวารวดีแล้ว จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พระพุทธรูปยืนตริภังค์ พบจำนวนไม่มากนักในสมัยทวารวดี โดยพบในกลุ่มพระพุทธรูปแสดงวรมุทรา (ปางประทานพร) สลักด้วยหินขนาดใหญ่ กลุ่มพระพุทธรูปสำริด และพระพิมพ์อีกจำนวนหนึ่ง พระพุทธรูปยืนตริภังค์ ศิลปะทวารวดี มักจะครองจีวรห่มเฉียง และแสดงวิตรรกมุราด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรในระดับบั้นพระองค์หรือปล่อยลงข้างพระวรกาย เป็นลักษณะการแสดงพระหัตถ์ที่ไม่สมมาตร ต่างจากกลุ่มพระพุทธรูปยืนสมภังค์ (ยืนตรง) มักจะครองจีวรห่มคลุม แสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่นิยมในพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยทวารวดี ซึ่งพบเป็นจำนวนมากกว่าพระพุทธรูปยืนตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก)
นอกจากพระพุทธรูปยืนตริภังค์องค์นี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบพระพุทธรูปยืนตริภังค์อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปสำริดยืนตริภังค์ จากเจดีย์หมายเลข ๒ และ ๑๓ รวมทั้งยังพบพระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปยืนตริภังค์จากเจดีย์หมายเลข ๒ และ ๓ อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1025 ครั้ง)