ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี
พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี สูงประมาณ ๘ เซนติเมตร ตรงกลางเป็นรูปพระลักษมี เกล้าพระเกศา พระพักตร์กลม พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา แย้มพระสรวล ทรงกุณฑลทรงกลมและกรองศอ พระหัตถ์ทั้งสองทรงถือก้านดอกบัวตูมยกขึ้นในระดับพระอุระ นั่งขัดสมาธิราบ มีช้างขนาบสองข้าง ส่วนศีรษะช้างหักหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปช้างชูงวงถือหม้อน้ำเพื่อรดน้ำอภิเษกพระลักษมี รองรับด้วยฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัว กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นฝาจุกภาชนะ หรือประดิษฐานเพื่อการเคารพบูชา หรือใช้เป็นเครื่องรางสำหรับติดตัวพ่อค้าหรือนักเดินทาง
คชลักษมีเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ มีที่มาจากคติการบูชาเพศหญิงซึ่งเป็นเพศผู้ให้กำเนิด ส่วนช้างเป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของเมฆฝน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม คชลักษมีจึงเป็นสัญลักษณ์มงคลที่ปรากฏทั้งในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “มายาเทวี” หมายถึงพุทธประวัติตอนประสูติของพระพุทธเจ้า ส่วนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่า “คชลักษมี” หมายถึงการรดน้ำอภิเษกแก่พระลักษมีซึ่งเป็นชายาของพระวิษณุ
นอกจากประติมากรรมคชลักษมีชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปคชลักษมีรูปแบบอื่นๆ ในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น แผ่นดินเผารูปคชลักษมีสำหรับการเจิมในการทำพิธีการทางศาสนาของพราหมณ์ และคชลักษมีประดับที่ส่วนล่างของธรรมจักร พบที่เมืองนครปฐมโบราณ เครื่องรางดินเผารูปคชลักษมีและท้าวกุเวร ซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องรางสำหรับพกติดตัวของพ่อค้าหรือนักเดินทาง พบที่เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี เป็นต้น โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยทวารวดี คชลักษมี เป็นรูปเคารพตามความเชื่อในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู โดยมีความหมายร่วมกันคือ ความมีโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องรางด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบในประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1104 ครั้ง)