...

สถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ตอนที่ ๒ สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณอู่ทอง

      สถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ตอนที่ ๒   สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณอู่ทอง

      เมืองโบราณอู่ทอง เป็นเมืองสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจระเข้สามพัน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปวงรี มีขนาดกว้าง ๗๕๐ เมตร ยาว ๑,๖๕๐ เมตร วางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้จากการสำรวจและทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทอง โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ พบเนินดินโบราณสถานกระจายตัวอยู่ทั้งภายในและภายนอกเมืองกว่า ๒๐ แห่ง ซึ่งเมื่อขุดศึกษาแล้วพบว่าเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) โบราณสถานส่วนใหญ่พังทลายลงเหลือเพียงส่วนฐาน บางแห่งเสื่อมสภาพจนไม่สามารถศึกษารูปทรงได้ และบางแห่งพบร่องรอยการใช้งานในสมัยอยุธยาด้วย เช่น เจดีย์หมายเลข ๑ และเจดีย์บนยอดเขาพระ

     เจดีย์และวิหารที่สร้างขึ้นในศาสนาพุทธ พบกระจายตัวอยู่ทั้งภายในและภายนอกเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนี้ยังพบสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์ตั้งอยู่นอกเมืองอู่ทอง บริเวณเชิงเขาคอก เรียกว่า กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน

 โบราณสถานสมัยทวารวดีมักก่อสร้างด้วยอิฐที่มีขนาดใหญ่ อิฐกว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร เนื้ออิฐมีแกลบข้าวผสมอยู่มาก บางแห่งใช้ศิลาแลงกับก้อนหินปูนในการก่อสร้างเพื่อเสริมความมั่นคงด้วย 

     จากการศึกษาส่วนฐานสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ พบว่า โบราณสถานเมืองอู่ทองส่วนใหญ่สร้างอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางแห่งสร้างในผังแปดเหลี่ยมหรือวงกลม ส่วนฐานนิยมตกแต่งด้วยการ “ยกเก็จ” หรือยกกะเปาะ อาจทำยกเก็จเฉพาะที่มุม หรือที่กึ่งกลางด้าน มีเสาอิงประดับเป็นระยะๆ ระหว่างเสาอิงมักประดับภาพปูนปั้น หรือดินเผารูปพระพุทธรูป รูปบุคคล สัตว์ ยักษ์หรือคนแคระแบก นอกจากนั้นยังนิยมประดับส่วนท้องไม้ด้วย “ขื่อปลอม” และลวดบัวขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า “บัววลัย” โบราณสถานบางแห่งมีบันไดทอดขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ ได้แก่ เจดีย์หมายเลข ๒ 

     เนื่องจากสถาปัตยกรรมที่พบส่วนใหญ่หักพังเหลือเพียงส่วนฐาน สันนิษฐานว่าส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอดของเจดีย์สมัยทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง น่าจะมีรูปทรงที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป แต่มีรูปแบบหนึ่งที่น่าจะได้รับความนิยมในการสร้าง คือ การสร้างองค์ระฆังเป็น “ทรงหม้อ” เหนือองค์ระฆังน่าจะประดับด้วยฉัตรซ้อนชั้นลดหลั่นกัน เช่น เจดีย์ศิลาสมัยทวารวดีที่พบจากจังหวัดนครปฐม

     ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ศึกษา เก็บข้อมูลจากซากโบราณสถานภายในเมืองโบราณอู่ทอง จำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข ๑,๒,๓,๙, ๑๐, ๑๐.๑, ๑๑ และ ๑๓ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถานเหล่านี้ โดยใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกับสถาปัตยกรรมต้นแบบจากอินเดียหรือจากแหล่งศิลปกรรมใกล้เคียง รวมถึงทำการศึกษาเทียบเคียงกับหลักฐานประเภทจิตรกรรมและภาพจำหลักต่างๆ จากนั้นจึงทำแบบวิเคราะห์รูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถานแต่ละแห่งด้วยโปรแกรมสามมิติ และจัดทำหุ่นจำลองโบราณสถานเหล่านั้น นำไปสู่ความเข้าใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดีมากยิ่งขึ้น 

อ้างอิง : ข้อมูลและวีดิทัศน์ จากนิทรรศการพิเศษและการบรรยายประกอบนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “สถาปัตยกรรมทวารวดีเมืองอู่ทอง : รูปแบบสันนิษฐาน” เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๐ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม



(จำนวนผู้เข้าชม 1633 ครั้ง)