โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒
โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เป็นเจดีย์สมัยทวารวดีที่ตั้งอยู่บนเทือกเขารางกะปิด ในพื้นที่บ้านเขาพระ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน ๓ ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นหินที่เกิดจากการนำหินธรรมชาติมาถมปรับพื้นที่เพื่อรับน้ำหนักเจดีย์และเป็นลานประกอบกิจกรรม พบร่องรอยการก่อสร้างซ้อนทับกัน ๒ สมัย
จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของเจดีย์ได้แก่อิฐและศิลาแลง พระพิมพ์ดินเผาประดับศาสนาสถาน ทั้งยังพบภาชนะดินเผาจำนวน ๓ ใบบรรจุโบราณวัตถุเนื่องในศาสนา ฝังอยู่ในพื้นหินที่ตั้งของโบราณสถาน
ในภาชนะดินเผาใบหนึ่งพบพระพิมพ์ดินเผามีจารึกอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ระบุนามกษัตริย์ผู้สร้างพระพิมพ์ จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์หรือชนชั้นปกครอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างบุญกุศล มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ต่อมาเจดีย์องค์นี้พังทลายลง จึงมีการสร้างเจดีย์สมัยที่ ๒ ครอบทับ
โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ พระพิมพ์ดินเผามีจารึก พระพิมพ์ดินเผาปิดทองคำเปลว พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ แผ่นตะกั่วรูปพระโพธิสัตว์และแผ่นตะกั่วรูปสตรี ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
เอกสารอ้างอิง
ปรัชญา รุ่งแสงทอง. ผลการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ กับการตอบคำถามเรื่อง “หินตั้ง”ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พุหางนาคและคอกช้างดินร่องรอยพุทธและพราหมณ์บนเขาศักดิ์สิทธิ์. สมุทรสาคร:บางกอกอินเฮ้าส์, ๒๕๖๑.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
ดาวน์โหลดไฟล์: โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 1014 ครั้ง)