...

พระพุทธรูปแสดงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย

       
         วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ เดือน ๘ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเมื่อ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก โดยทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ให้แก่ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เกิดพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก

         พุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ขอนำเสนอโบราณวัตถุสำคัญชิ้นหนึ่งที่อาจสร้างขึ้นเพื่อแทนความหมายของวาระสำคัญดังกล่าว

         ภาพพระพุทธรูปนูนสูงสลักจากหิน  สูง ๑๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๙๕ เซนติเมตร พบที่วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิ พระหัตถ์สองข้างวางประสานกันบนพระเพลา  

         สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ฐานด้านล่างบริเวณกึ่งกลาง สลักภาพธรรมจักรด้านข้าง หันส่วนที่เป็นสันออก ขนาบข้างด้วยรูปกวางหมอบเหลียวหลัง ๒ ตัว  ซึ่งอาจหมายถึงเหตุการณ์แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือป่าสวนกวาง แขวงเมืองพาราณสี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปจะแสดงปางสมาธิ ไม่ใช่ปางแสดงธรรมก็ตาม แต่จากภาพสลักที่ฐานของพระพุทธรูป สื่อถึงการแสดงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาอย่างชัดเจน และสะท้อนถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอย่างแท้จริง กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

เอกสารอ้างอิง

จิรา จงกล. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๙.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะอินเดีย. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๓๔.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “วิวัฒนาการของประติมากรรมสมัยทวารวดี”, ท่องอารยธรรม เล่ม ๒, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธุรกิจก้าวหน้า, ๒๕๔๐.

ศิลปากร, กรม. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี: โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 2960 ครั้ง)


Messenger