ประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์
ประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์ สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนใบหน้า มีตาโปน คิ้วหยักเป็นเส้นต่อกัน จมูกใหญ่ อ้าปากกว้าง แลบลิ้น มีร่องรอยของการปั้นแผงคอรอบใบหน้า ประติมากรรมชิ้นนี้น่าจะใช้สำหรับประดับส่วนฐานของศาสนสถาน เนื่องจากพบว่าส่วนฐานของโบราณสถานที่พบประติมากรรมชิ้นนี้ทำเป็นช่อง ซึ่งจากตัวอย่างสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมทวารวดีส่วนฐานที่เจาะเป็นช่องนี้มักประดับด้วยประติมากรรม ทั้งที่เป็นดินเผา หรือปูนปั้น บางครั้งปั้นเป็นเรื่องชาดก รูปคนแคระแบก หรือรูปสัตว์ เป็นต้น
ประติมากรรมรูปสัตว์ที่ช่างสมัยทวารวดีนิยมสร้างเพื่อประดับส่วนฐานของศาสนสถาน มักทำเป็นรูปช้างหรือสิงห์ เพราะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจและพละกำลัง หมายถึงผู้พิทักษ์ ปกปักรักษา และค้ำจุนศาสนสถานแห่งนั้น ซึ่งมีต้นแบบและคติการสร้างมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ ทั้งนี้มีการพบหลักฐานประติมากรรมรูปสิงห์ประดับศาสนสถานในเมืองโบราณวัฒนธรรมทวารวดีหลายแห่งในภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองนครปฐมโบราณ เป็นต้น ที่มีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันไป น่าจะเกิดจากการผสมผสานศิลปะอินเดียซึ่งเป็นต้นแบบเข้ากับงานช่างท้องถิ่นแต่ละที่ จึงสามารถกำหนดอายุประติมากรรมสิงห์นี้ได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะทวารวดีเริ่มมีพัฒนาเป็นรูปแบบการทางศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่แตกต่างจากศิลปะอินเดียแล้ว
การพบประติมากรรมรูปสิงห์ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่าเมืองในวัฒนธรรมทวารดี ติดต่อกับอารยธรรมภายนอก ที่สำคัญคืออินเดีย ในช่วงก่อนช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ., ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2639 ครั้ง)