...

จดหมายเหตุเล่าเรื่อง ตอนที่ ๓ การค้นหาแร่เต๊กไต๊ท์

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ขอนำเสนอสาระความรู้ ในหัวข้อ จดหมายเหตุเล่าเรื่อง ตอนที่ ๓ การค้นหาแร่เต๊กไต๊ท์

จากเอกสารจดหมายเหตุจังหวัดนครพนม แผนกมหาดไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ กรมโลหกิจ (ปัจจุบันคือ กรมทรัพยากรธรณี) ได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เรื่อง ขอทราบแหล่งเต๊กไต๊ท์ ตามเนื้อความระบุว่า

เนื่องจากปรากฏในรายงานธรณีวิทยาของต่างประเทศว่าวัตถุชะนิดหนึ่งชื่อเต๊กไต๊ท์ (Tectite) ได้พบแพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย, หมู่เกาะฟิลิปปินส์, อินโดจีน และในภาคอีสานของประเทศไทยบางท้องที่ วัตถุนี้มีประโยชน์ในงานธรณีวิทยา และกรมโลหกิจใคร่จะได้ทราบว่ามีปรากฏที่ใดบ้าง จึงได้แนบภาพถ่ายของเต๊กไต๊ท์ที่พบในอินโดจีนมากับหนังสือนี้สองภาพ เพื่อขอความร่วมมือจากท่านช่วยสืบค้นว่ามีผู้พบ หรือมีแหล่งปรากฏที่ใดบ้าง และหากจะได้ตัวอย่างด้วยก็เป็นการดีมาก วัตถุเหล่านี้มักพบปรากฏอยู่ตามผิวดิน ปนกับกรวดทรายในร่องห้วย ตามลาดเนิน ลักษณะคล้ายหินหรือแก้วหรือเหล็กเป็นสนิม ผิวมักจะขรุขระดังผิวลูกมะกรูดหรือเป็นร่อง เป็นแอ่ง เป็นรูเล็ก ๆ มีขนาดต่างกันตั้งแต่ขนาดผลพุดซาไปจนถึงขนาดผลส้มโอขนาดใหญ่ วัตถุเหล่านี้เป็นวัตถุเดียวกับที่ชาวบ้านเรียกว่า คดพระจันทร์ ขวานพระจันทร์ หรือขวานฟ้า”

แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบเอกสารจดหมายเหตุที่ได้รับมอบไม่พบเอกสารแนบภาพถ่าย ผู้เรียบเรียงจึงขอยกตัวอย่างแร่เต๊กไต๊ท์ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี ดังนี้

Tektite เป็นหินอุลกมณี หรือหินดาวตกประกอบด้วยแร่ซิลิกา ลักษณะเป็นเนื้อแก้วที่ผิวมีหลุมเล็ก ๆ หรือเป็นร่องยาว มีหลายขนาดและรูปแบบ เช่น ทรงกลมคล้ายผลส้ม กลมและแบนแบบจาน รูปหยดน้ำ รูปดัมเบล และรูปกระสวย ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการในอำเภอต่าง ๆ ให้สำรวจและรายงานข้อมูล พบว่า จากการสำรวจของนายไพฑูรย์ เก่งสกุล นายอำเภอนาแก ในบริเวณพื้นที่ตำบลกกตูม อำเภอนาแก มีการพบหินที่สงสัยว่าจะมีแร่ธาตุบางชนิดรวม ๑๔ ชิ้น กรมโลหกิจ จึงส่ง นายเกษตร พิทักษ์ไพรวัน นายช่างธรณีวิทยา และนายวิลเลี่ยม เอ. แคสซิตี้ ให้มาดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างหิน ๑๔ ชิ้น กลับมายังกรมโลหกิจ เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหิน แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

๑. ตัวอย่างหินที่ได้จากภูกะติ๊บ บ.โคกกลาง อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นแร่ทองแดง จำนวน ๗ ชิ้น

๒. ตัวอย่างจาก ตำบลกกตูม อำเภอนาแก จ.นครพนม เป็นแร่และวัตถุต่าง ๆ คือ

๒.๑ แร่เหล็ก ชนิดไลโมไน้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น

๒.๒ แร่เหล็ก ชนิดไพไร้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น

๒.๓ กรวดมีคราบแร่ทองแดง จำนวน ๓ ชิ้น

๒.๔ ซากกระดูกกลายเป็นหิน จำนวน ๒ ชิ้น

ภายหลังจากที่มีการวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ กรมโลหกิจ ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการจัดการหากราษฎรพบหินที่มีลักษณะดังกล่าวไว้ว่า

ตัวอย่างแร่ทองแดงจากภูกระติ๊บ แสดงลักษณะของแร่ซึ่งเคยพบเป็นก้อนในหินทรายในที่อื่น ๆ และมักจะไม่เป็นแหล่งใหญ่ แต่ก็ควรสนใจติดตามให้ทราบแน่นอนว่ามีมากสักเพียงใด ส่วนแร่เหล็กและทองแดงจากตำบลกกตูม ไม่แสดงลักษณะสำคัญควรแก่การสนใจ แต่ทรากกระดูกกลายเป็นหิน ๒ ชิ้น ควรจะได้สืบทราบแหล่งที่มาแน่นอน และถ้ายังมีส่วนใดเหลืออยู่เอาออกจากหินได้ยาก ก็ควรจะได้รับความคุ้มครองจากผู้ปกครองท้องที่มิให้ถูกทำลายไปโดยชาวบ้าน เพื่อจักได้ทำการศึกษาในโอกาสอันควรข้างหน้า เพราะวัตถุเหล่านี้มีค่าในทางการศึกษาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาตร์”

เอกสารอ้างอิง

- กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). ประวัติความเป็นมาของกรมทรัพยากรธรณี. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/n_more_news.php...

- กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). tektite เกิดได้อย่างไร ส่วนประกอบทางเคมีเป็นอย่างไร ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/fq_more.php?page=8&f_id=19&f_sub_id=21

- หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี.

นพ ๑.๒/๓๒ ให้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครพนม (๑๘ ม.ค. - ๑๗ ก.ย. ๒๔๙๘)

ภาพประกอบ

- อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก. (ม.ป.ท.). เมื่อไม้กลายเป็นหิน. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/.../article/article_20171002133400.pdf

- https://www.mindat.org/min-10859.html

เรียบเรียงโดย

นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 465 ครั้ง)