...

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

         พระบรมสาทิสลักษณ์  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์  ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

         เทคนิค : สีฝุ่นบนภาพพระบฎ   

         ศิลปิน : นายธรรมรัตน์  กังวาลก้อง  ตำแหน่ง : จิตรกรปฏิบัติการ

         กลุ่มงาน : กลุ่มจิตรกรรม  สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร

         ขนาด : กว้าง ๕๐ เซนติเมตร  ยาว ๑๓๐  เซนติเมตร

         ผลงานศิลปกรรมออกแบบและจัดสร้างโดย  กลุ่มจิตรกรรม  สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร  จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖  เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)

         การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยเทคนิคการเขียนสีฝุ่นบนภาพพระบฏชิ้นนี้  จิตรกรได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ในวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒  ช่วงเวลา ๑๔.๕๒ น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์  ฉลองพระองค์ครุยสายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์  สายสร้อยจุลจอมเกล้า  เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  ประทับเหนือพระที่นั่งพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร  ทรงมหาพิชัยมงกุฎ  

 

ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ 

         เป็นฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน  เดิมฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นออกนามแต่เพียงว่า “ฉลองพระองค์เครื่องต้นอย่างบรมราชาภิเษก”

ถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฏในหมายกำหนดการออกนามฉลองพระองค์สำรับนี้เป็นครั้งแรกว่า “เครื่องพระราชภูษิตาภรณ์อย่างวันบรมราชาภิเษก” เมื่อเสด็จเลียบพระนคร และเปลี่ยนเป็นใช้ว่า “เครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์”  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เมื่อทรงฉลองพระองค์สำรับนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกนามว่า "ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์”

         ฉลองพระองค์ครุย ของพระมหากษัตริย์มีมาแต่สมัยอยุธยา ทรงใช้สวมทับเป็นฉลองพระองค์ชั้นนอก ใช้เส้นทอง เส้นเงิน ที่เรียกว่า ทองแล่ง เงินแล่งปักเป็นลวดลายบนผ้าโปร่ง ลวดลายที่ปักจะเป็นอย่างใดนั้นไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ พบแต่เรียกตามวัสดุที่ใช้ทำเป็นฉลองพระองค์ครุยและวัสดุที่ใช้ปัก เช่น สมัยรัตนโกสินทร์เรียกฉลองพระองค์ครุยของรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง  ของรัชกาลที่ ๒ เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยพื้นแดงกรองทอง  ของรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง ของรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่า  ส่วนฉลองพระองค์ครุยของรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เรียกเพียง ฉลองพระองค์ครุยเท่านั้น  ในแต่ละรัชกาลทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยหลายองค์มิได้ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยเพียงองค์เดียว

         ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์นั้น แต่เดิมไม่ทราบว่าลวดลายเป็นอย่างไร จนเมื่อมีการถ่ายภาพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะทรงฉลองพระองค์ครุยไว้ แต่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ยังคงเรียกตามวัสดุและลวดลายที่ปักลงบนฉลองพระองค์ครุย  เช่น ฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสวมใน  พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ปักเป็นรูปเพชราวุธอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ฉลองพระองค์ครุยที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง  ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกองค์หนึ่งแต่ลวดลายต่างกัน  ต่อมาโปรดให้สร้างฉลองพระองค์ครุยขึ้นใหม่ ปักลวดลายเป็นรูปจักรกับตรีอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์ วัสดุที่ใช้ปักคือ “ทองแล่ง” 

 

อ้างอิง

----------

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.  คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔, จาก http://www.phralan.in.th/coronation/vocab.php?ispage=10

-----------

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมสื่อวีดิทัศน์ : ขั้นตอนการเขียนสีฝุ่นบนภาพพระบฏ  ได้จากระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ทางลิ้งค์ด้านล่าง

-------------------------------------

https://datasipmu.finearts.go.th/knowledge/26

-------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 389 ครั้ง)


Messenger