พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนานประทับเหนือตั่งอุทุมพรราชอาสน์แปรพระพักต์สู่ทิศบูรพา
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนานประทับเหนือตั่งอุทุมพรราชอาสน์แปรพระพักต์สู่ทิศบูรพา
เทคนิค : เขียนสีฝุ่นบนภาพพระบฏ
ขนาด : กว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๓๐ เซนติเมตร
ศิลปิน : นายสิทธิพร สระโพธิ์ทอง จิตรกร
กลุ่มงาน : กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ผลงานศิลปกรรมออกแบบและจัดสร้างโดย กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยเทคนิคการเขียนสีฝุ่นบนภาพพระบฏชิ้นนี้ จิตรกรได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานเข้ายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยริ้วขบวนพราหมณ์ เสด็จฯ ไปยังมณฑปพระกระยาสนาน ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อเสด็จฯ ถึงทรงจุดธูปเงินเทียนทอง สังเวยเทวดากลางหาว แล้วเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน ประทับเหนือตั่งอุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักต์สู่ทิศบูรพาเพื่อสรงพระมุรธาภิเษก
“มณฑปพระกระยาสนาน” หรือ “พระมณฑปพระกระยาสนาน” เป็นสถานที่สรงสนานสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดานดาดผ้าขาว มีสหัสธารา [สะ-หัด-สะ-ทา-รา] สำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง ๔ ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรบนถาดทองรองน้ำสรง
วันสรงพระมุรธาภิเษก ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบมุรธาภิเษกสนาน และวางใบไม้นามวันกาลกิณีสำหรับทรงเหยียบบนฐานมณฑปตั้งราชวัติทรงเครื่องพื้นขาวลายทอง ตั้งฉัตร ๗ ชั้นทองแผ่ลวดพื้นโหมดทองเงินนาคทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๓ องค์ มีบุษบกน้อยสำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะ [พฺระ-ไช-นะ-วะ-โล-หะ] ทางทิศตะวันออกและประดิษฐานพระมหาพิฆเนศ [พฺระ-มะ-หา-พิ-คะ-เนด] ทางทิศตะวันตก ที่มุมฐานมณฑปทั้ง ๔ มุม ตั้งศาลจัตุโลกบาล [จัด-ตุ-โลก-กะ-บาน] สำหรับบูชาพระฤกษ์
“มุรธาภิเษก” แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” การสรงพระมุรธาภิเษก หมายถึงการยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น เจือด้วยน้ำปัญจมหานที ในมัธยมประเทศ (อินเดีย) และน้ำเบญจสุทธคงคา แม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย น้ำสี่สระ เจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจาก ปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และเจือด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่ได้ทำพิธีเตรียมไว้
ขั้นตอนปฏิบัติในการสรงพระมุรธาภิเษกมีแบบแผนคล้ายกันในทุกรัชกาลนับตั้งแต่ทรงผลัดฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ เสด็จโดยริ้วขบวนจากหอพระสุราลัยพิมานมายังมณฑปพระกระยาสนาน ทรงจุดธูปเทียนเทียนบูชาเทวดากลางหาว แล้วเสด็จขึ้นประทับเหนือตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวผินพระพักตร์สู่มงคลทิศในแต่ละรัชกาล ดังกรณีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระพักตร์ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระพักตร์ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงแปรพระพักตร์ทิศบูรพา (ตะวันออก) การผินพระพักตร์ไปยังมงคลทิศต่าง ๆ นี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่พระองค์และความสวัสดิสุขแด่ปวงชน
นอกจากการแปรพระพักตร์ไปในมงคลทิศต่าง ๆ แล้ว ยังปรากฏธรรมเนียมการทอดใบไม้กาลกิณีให้ทรงเหยียบซึ่งแตกต่างกันในแต่ละรัชกาลด้วย เช่น รัชกาลที่ ๖ ทอดใบกระถิน รัชกาลที่ ๗ ทอดใบตะขบ รัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบัน ทอดใบอ้อ
ในส่วนของการถวายน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนตร์ด้วยพระเต้า พระครอบ และพระมหาสังข์ต่าง ๆ นั้น โดยปกติบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้า พระราชครูพราหมณ์ เจ้าพนักงาน แต่ในบางรัชกาลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีบุคคลปฏิบัติหน้าที่ถวายน้ำเพิ่มเติม ดังเช่นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อาราธนาสมเด็จพระราชาคณะ ๓ รูปถวายน้ำพระพุทธมนต์หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรสถวายน้ำพระพุทธมนต์ที่พระขนองและพระหัตถ์แล้ว รวมทั้งได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถวายน้ำด้วยพระเต้าศิลายอดเกี้ยวที่พระขนองและพระหัตถ์ด้วย
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔, จาก
http://www.phralan.in.th/coronation/vocabdetail.php?id=79
กรมศิลปากร. เถลิงรัชช์หัตถศิลป์ = Coronation Art. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๖.
ผู้ที่สนใจขั้นตอนการการเขียนสีฝุ่นบนภาพพระบฏ สามารถเข้าชมวีดิทัศน์ได้ทางลิ้งค์ด้านล่าง
https://datasipmu.finearts.go.th/knowledge/26
(จำนวนผู้เข้าชม 361 ครั้ง)